คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” จากบทบัญญัติดังกล่าวยังมีกำหนดเงื่อนเวลาไว้ด้วย ตามมาตรา 290 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่อายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้”
คดีนี้โจทก์ชนะคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดและขายทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้ได้ เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัดไปยังศาลแพ่งนั้น เป็นเงินที่บุคคลภายนอกนำส่งไว้เนื่องจากมีคำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาอันเป็นวิธีการชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1) ประกอบมาตรา 266 มิใช่ทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้จากการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวยังเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้อยู่ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัด การอายัดทรัพย์ในคดีนี้จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาโดยอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีต่อมหาวิทยาลัย อ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั่นเอง ส่วนศาลแพ่งนั้นเป็นเพียงสถานที่ที่เก็บรักษาทรัพย์ที่ขออายัดไว้เท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามที่อายัดไว้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2541 ซึ่งถือได้ว่ามีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 จึงล่วงระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า ผู้ร้องจึงไม่สามารถร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากจำนวนเงินดังกล่าวได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 370,166 บาท แบ่งชำระ 12 งวด งวดละ 30,847.16 บาท งวดแรกชำระภายในวันที่ 29 พฤษภาคม 2541 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 29 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบถ้วน กับให้ชำระเงินค่าใช้จ่ายในการติดตามทวงถามและค่าทนายความจำนวน 18,508.30 บาท แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป หากผิดนัดข้อใดข้อหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทุกงวด โจทก์มีสิทธิบังคับคดีได้ทันที และจำเลยตกลงเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดี และต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัดเงินจำนวน 412,095 บาท ที่ศาลแพ่งมีคำสั่งอายัดไว้ชั่วคราวในคดีหมายเลขดำที่ 2832/2541
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย ในคดีหมายเลขดำที่ 2832/2541 หมายเลขแดงที่ 22788/2541 ของศาลแพ่ง โดยศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,834,626.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,734,872.32 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2541 เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินของจำเลยในคดีที่ผู้ร้องเป็นโจทก์จำนวน 412,095 บาท จำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะยึดหรืออายัดนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่ผู้ร้อง จึงขอเข้าเฉลี่ยเงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดไว้
โจทก์และจำเลยยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เดิมผู้ร้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขดำที่ 2832/2541 และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเป็นกรณีฉุกเฉิน ขอให้อายัดเงินค่าจ้างที่จำเลยจะได้รับจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ศาลแพ่งมีคำสั่งให้อายัดชั่วคราวเงินค่าจ้างตามคำร้องของผู้ร้อง โดยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญได้ส่งเงินค่าจ้างดังกล่าวต่อศาลแพ่งแล้วรวมเป็นเงินที่ส่งไว้จากการอายัดชั่วคราว 2,500,000 บาท ต่อมาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ได้ขอออกหมายบังคับคดีและขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินจำนวน 412,095 บาท จากเงินที่ถูกอายัดไว้ชั่วคราวดังกล่าวไปยังศาลแพ่ง ศาลแพ่งได้ส่งเงินตามจำนวนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัดไว้ดังกล่าวโดยจ่ายเป็นเช็คธนาคารออมสินสาขายุติธรรม ไปยังกรมบังคับคดีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2541 ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากเงินอายัดที่ศาลแพ่งส่งมาดังกล่าว ตามคำร้องลงวันที่ 11 มีนาคม 2542 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เกินกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีกแต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” จากบทบัญญัติดังกล่าวยังมีกำหนดเงื่อนเวลาไว้ด้วยตามมาตรา 290 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่อายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้” คดีนี้โจทก์ชนะคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดและขายทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้ได้ เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัดไปยังศาลแพ่งนั้น เป็นเงินที่บุคคลภายนอกนำส่งไว้เนื่องจากมีคำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาเป็นวิธีการชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (1) ประกอบมาตรา 266 มิใช่ทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้จากการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวยังเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้อยู่ในขณะที่เจ้าพนักงานขออายัด การอายัดทรัพย์ในคดีนี้จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาโดยอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีต่อมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั่นเอง ส่วนศาลแพ่งนั้นเป็นเพียงสถานที่ที่เก็บรักษาทรัพย์ที่ขออายัดไว้เท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามที่อายัดไว้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2541 ซึ่งถือได้ว่า มีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 จึงล่วงระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคห้า ผู้ร้องจึงไม่สามารถร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากจำนวนเงินดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share