คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5613/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 และมาตรา 90/60 ประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นภาษีอากรก็ตาม นอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมได้ ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการจึงกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการได้
กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินการแตกต่างจากนิติบุคคลโดยทั่วไป เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับชำระหนี้ของกรมศุลกากรไว้โดยเฉพาะ หรือมีบทบัญญัติที่ห้ามมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับกรมศุลกากรมาใช้บังคับ กรณีจึงต้องปฏิบัติไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งได้กำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนอันจะทำให้กรมศุลกากรเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนย่อมเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกรมศุลกากรในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อกำหนดในแผนส่วนนี้จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายไม่อาจใช้บังคับได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 และตั้งบริษัทบี.อาร์ซี.แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2545 เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนที่ได้มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/46 (2) ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดวันพิจารณาให้ผู้ทำแผนลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/56 แล้ว
เจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ค่าภาษีอากรขาเข้าเป็นเงิน 613,241,245 บาท และเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการอีกจำนวน 339,332,951 บาท รวมเป็นเงิน 952,574,196 บาท ซึ่งตามแผนฟื้นฟูกิจการได้ปลดภาระหนี้ในส่วนเงินเพิ่มเสียทั้งสิ้น ส่วนภาระหนี้ค่าภาษีอากรขาเข้าจำนวน 613,241,245 บาท ได้แบ่งการชำระออกเป็น 5 ส่วน ส่วนแรกจำนวน 282,175,411.79 บาท จะชำระภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ โดยกำหนดดอกเบี้ยในปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ปีที่ 4 ถึงปีที่ 6 ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และปีที่ 7 ถึงวันชำระเสร็จในอัตราร้อยละเอ็มแอลอาร์ ส่วนที่ 2 จำนวน 38,415,603.35 บาทจะชำระภายใน 10 ปี โดยมีเงื่อนไขทำนองเดียวกับหนี้ส่วนแรก ส่วนที่ 3 จำนวน 165,225,657.04 บาท จะชำระโดยการแปลงหนี้เป็นทุนภายใน 150 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งได้รับจัดสรรหุ้นจำนวน 9,719,156 หุ้น ในราคาหุ้นละ 17 บาท ส่วนที่ 4 จำนวน 76,831,206.70 บาท จะชำระภายใน 5 ปี หากไม่สามารถชำระได้ ลูกหนี้จะจัดหาสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดเพื่อนำมาชำระให้แก่เจ้าหนี้ภายใน 90 วัน นับแต่วันครบกำหนด 5 ปี และส่วนที่ 5 จำนวน 50,593,366.12 บาท จะพักการชำระหนี้ไว้เป็นเวลา 10 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย แผนฟื้นฟูกิจการในส่วนที่เกี่ยวกับเจ้าหนี้ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะการปลดภาระหนี้เงินเพิ่มขัดต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ตรี และมาตรา 112 จัตวา ซึ่งบัญญัติให้เงินเพิ่มถือเป็นเงินภาษีส่วนการชำระหนี้ค่าภาษีอากรต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ.2540 มาตรา 4 และระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.2520 ซึ่งออกตามความในมาตรา 12 (2) แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 ได้กำหนดการรับเงินของส่วนราชการในข้อ 15 ว่า การรับเงินให้รับเป็นเงินสดหรือเช็คหรือดร๊าฟต์หรือตราสารตามที่กระทรวงการคลังกำหนด ดังนั้น การชำระหนี้ค่าภาษีอากรด้วยหุ้นสามัญจึงไม่อาจกระทำได้ ส่วนการผ่อนชำระหนี้และการพักชำระหนี้ตลอดจนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยล้วนแล้วแต่ขัดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการมิได้กำหนดเงื่อนไขการชำระหนี้สำหรับหนี้ค่าภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แผนฟื้นฟูกิจการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ทำแผนแก้ไขแผนให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอและได้รับชำระหนี้ด้วยเงินสดโดยไม่ต้องมีการผ่อนชำระ
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า แม้หนี้ของเจ้าหนี้จะเป็นค่าภาษีอากรแต่ก็ต้องตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ว่าด้วยการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/26, 90/27 และแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลายให้ต้องปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวตามมาตรา 90/60 ซึ่งศาลฎีกาได้ตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4822/2545 แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดทำขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย ตามเจตนาอันสุจริตของลูกหนี้อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับลูกหนี้ทั้งหมด ขอให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการตามมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ประการแรกว่า แผนฟื้นฟูกิจการจะกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ…” และมาตรา 90/60 บัญญัติว่า “แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้…” กฎหมายจึงประสงค์ให้มูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นภาษีอากรก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จสิ้นไป นอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เช่น ผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายตามมาตรา 56 การปลดจากล้มละลายตามมาตรา 77 หนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามมาตรา 90/27 วรรคสาม หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามแผนตามมาตรา 90/62 (2) หรือหนี้ภาษีอากรที่กำหนดชำระภายในเดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 130 (6) เช่นนี้ เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58 (2) ประกอบด้วยมาตรา 130 (6) สิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรจึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมได้ ดังนั้น แผนฟื้นฟูกิจการจึงกำหนดปรับลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ประการสุดท้ายว่าแผนฟื้นฟูกิจการสามารถกำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีให้แก่กรมศุลกากรเจ้าหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนได้หรือไม่ เห็นว่า แม้กรมศุลกากรจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์และดำเนินการแตกต่างจากนิติบุคคลโดยทั่วไป เมื่อพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มิได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรับชำระหนี้ของกรมศุลกากรไว้โดยเฉพาะ หรือมีบทบัญญัตที่ห้ามมิให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับกรมศุลกากรมาใช้บังคับ กรณีจึงต้องปฏิบัติไปตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งได้กำหนดให้กรมศุลกากรมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร กฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนอันจะทำให้กรมศุลกากรเข้าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอกชนย่อมเป็นการขัดต่อวัตถุประสงค์ของกรมศุลกากรในการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อกำหนดในแผนส่วนนี้จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายไม่อาจใช้บังคับได้
อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาได้พิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการทั้งหมดแล้ว เห็นว่า แผนได้ดำเนินการจัดทำโดยสุจริตและมุ่งหมายที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยมุ่งวัตถุประสงค์ในการที่จะรักษาองค์กรทางธุรกิจเอาไว้และเพื่อจะนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งปวง ประกอบกับแผนฟื้นฟูกิจการได้รับการยอมรับจากเจ้าหนี้เป็นส่วนใหญ่แล้ว เพียงแต่ปรากฏเหตุขัดข้องในแผนเฉพาะส่วนที่กำหนดให้มีการชำระหนี้ค่าภาษีด้วยหุ้นของบริษัทลูกหนี้ซึ่งศาลไม่อาจมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนได้ จึงสมควรแจ้งให้ผู้ทำแผนทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขเหตุขัดข้องดังกล่าวเสียก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผยไปเสียทีเดียว”
จึงมีคำสั่งให้ผู้ทำแผนดำเนินการยื่นคำขอแก้ไขแผนเฉพาะส่วนที่กำหนดวิธีการชำระหนี้ค่าภาษีให้แก่กรมศุลกากรเจ้าหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งนี้ และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แล้วรายงานผลการประชุมเจ้าหนี้ต่อศาลล้มละลายกลาง หากผู้ทำแผนไม่ดำเนินการภายในกำหนดหรือเมื่อได้รับผลการประชุมเจ้าหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ให้ศาลล้มละลายกลางส่งสำนวนนี้คืนศาลฎีกาโดยด่วน ชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกาไปก่อน

Share