แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามหนังสือรับรองนิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดรับรองระบุว่า นายทะเบียนได้จำแนกห้างหุ้นส่วนนี้ออกจากสารบบทะเบียนเพราะมีมูลเหตุเชื่อว่าไม่ได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้ว หาได้มีข้อความอันใดที่แสดงว่า ฐานะการเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ได้สิ้นสุดหรือหมดสภาพไปแล้วในเวลาที่โจทก์ยื่นคำฟ้องนั้นไม่ ทั้งข้อเท็จจริงที่นายทะเบียนได้จำแนกจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบทะเบียนเพราะมีมูลเหตุที่เชื่อว่าไม่ได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานนั้น ก็มิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นต้องสิ้นสภาพของการเป็นนิติบุคคลไป โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วน จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2526 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำสัญญาเป็นผู้จำหน่ายสินค้าของโจทก์ หลังจากนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ซื้อรถจักรยานยนต์ไปจากโจทก์หลายครั้ง จนกระทั่งวันที่ 26 มกราคม 2541 จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ค่าสินค้าแก่โจทก์และไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้จำเลยทั้งสองจึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์โดยรับว่าเป็นหนี้ค่าสินค้า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2540 จำนวน 26,498,326 บาท กับดอกเบี้ยค้างชำระอีก 2,163,908 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 28,662,234 บาท จำเลยทั้งสองตกลงให้นำค่าส่งเสริมการขายที่จะได้รับจากโจทก์มาหักชำระหนี้กับได้นำที่ดินอีก 3 แปลง ตีใช้หนี้ดังกล่าว เมื่อชำระแล้วยังเหลือเป็นหนี้ค้างชำระอยู่อีก 16,253,084 บาท จำเลยทั้งสองตกลงผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยจำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเช็ครวม 8 ฉบับ และมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราของจำเลยที่ 1 สลักหลังเช็คดังกล่าวทุกฉบับ ต่อมาเช็คฉบับลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2545 จำนวนเงิน 2,000,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองสั่งจ่ายถึงกำหนดชำระ ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 2,253,972 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 2,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้รับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 เห็นว่า ตามหนังสือรับรองนิติบุคคลได้ความว่านายทะเบียนลบชื่อออกไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2545 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามหนังสือรับรองนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ซึ่งนายทะเบียนสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดรับรองที่โจทก์แนบมาท้ายคำแถลงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 1 โดยวิธีปิดหมาย ปรากฏข้อความตรายางประทับไว้ระบุว่า นายทะเบียนได้จำแนกห้างหุ้นส่วนส่วนนี้ออกจากสารบบทะเบียน เพราะมีมูลเหตุเชื่อว่าไม่ได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้วตามประกาศที่ (ห) 1/2546 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 ข้อความดังกล่าวเป็นแต่เพียงการแจ้งให้ทราบว่านายทะเบียนได้จำแนกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบทะเบียน เพราะมีมูลเหตุเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานแล้วเท่านั้น หาได้มีข้อความอันใดที่แสดงว่า ฐานะการเป็นนิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้สิ้นสุดหรือหมดสภาพไปแล้วในเวลาที่โจทก์ยื่นคำฟ้องนั้นไม่ ทั้งข้อเท็จจริงที่นายทะเบียนได้จำแนกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบทะเบียนเพราะมีมูลเหตุที่เชื่อว่าไม่ได้ทำการค้าขายหรือประกอบการงานนั้น ก็หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดกำหนดให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นต้องสิ้นสุดสภาพของการเป็นนิติบุคคลไปแต่อย่างใดด้วยไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วยกฟ้องจำเลยที่ 1 เสียในชั้นตรวจคำฟ้องจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ