คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินเงินผ่อนชื่อที่เรียกคู่สัญญาในสัญญาทุกข้อก็ระบุว่าผู้ซื้อและผู้ขายแม้มีสัญญาข้อหนึ่งว่าผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองใช้สิทธิ ปลูกสร้างในที่ดินได้ก็มีเงื่อนไขว่านับตั้งแต่วันที่ผู้ขายกรุยดินยกถนนผ่านที่ดินเรียบร้อยแล้วอันมีความหมายชัดว่าผู้ขายไม่ได้มอบที่ดินให้ผู้ซื้อทันทีโจทก์ผู้ซื้อจึงไม่ได้ใช้และรับประโยชน์จากที่ดินพิพาทในวันทำสัญญาแต่ประการใด แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่จะทำสัญญาจะซื้อขายกัน ซึ่งต่างกับสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยจะต้องนำที่ดินมาให้โจทก์เช่า หรือส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินนั้นโดยมีคำมั่นว่าจะขาย แม้คำบรรยายฟ้องมีว่า โจทก์ได้ตกลงเช่าซื้อที่พิพาท แต่ก็อ้างหนังสือสัญญาท้ายคำฟ้องซึ่งตรงกับหนังสือสัญญาดังกล่าวที่ส่งศาลและโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสัญญาดังกล่าวเป็นหลัก. ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่พิพาท
จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
ศาลล่างเขียนหรือพิมพ์คำพิพากษาผิดพลาดไป ว่าให้จำเลยเสียดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2514(ที่ถูกคือ 2515) ศาลฎีกาแก้ไขได้เองให้ถูกต้อง โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 โดยพิพากษายืนแต่ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2515

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เช่าซื้อที่ดินจากจำเลยโดยชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 30 เดือน ต่อมาจำเลยไม่ยอมรับชำระ อ้างว่าโจทก์ต้องชำระค่าถมที่ดินก่อน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลย ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่ชำระไปแล้วพร้อมทั้งดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1, ที่ 2 ให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดชำระเงินค่าเช่าซื้อตลอดมา และไม่ชำระค่าถมที่ดิน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิด

จำเลยที่ 3 ให้การว่า พลโทอร่าม เมนะคงคา ทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับโจทก์โดยทำแทนจำเลยที่ 1, ที่ 2 เมื่อพลโทอร่ามถึงแก่กรรมโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทของพลโทอร่าม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1, ที่ 2 ร่วมกันใช้เงินตามฟ้องพร้อมทั้งดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2514 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3

จำเลยที่ 1, ที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1, ที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาว่าหนังสือสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาเช่าซื้อและตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเช่าซื้อ ศาลจะวินิจฉัยว่ามิใช่สัญญาเช่าซื้อไม่ได้ และแม้จะถือว่าเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์หรือจำเลยก็ไม่มีสิทธิเลิกสัญญาในกรณีที่ไม่มีฝ่ายใดผิดสัญญา ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาตามเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่าเป็นสัญญาซื้อขายที่ดินเงินผ่อนแม้ชื่อที่เรียกคู่สัญญาในสัญญาทุกข้อก็ระบุว่าผู้ซื้อและผู้ขาย ส่วนสัญญาข้อ 7 ที่ว่าผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อเข้าครอบครองใช้สิทธิปลูกสร้างในที่ดินได้นั้น ก็มีเงื่อนไขว่านับตั้งแต่วันที่ผู้ขาย กรุยดิน ยกถนนผ่านที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว อันมีความหมายชัดว่าผู้ขายไม่ได้มอบที่ดินให้ผู้ซื้อทันที โจทก์ผู้ซื้อจึงไม่ได้ใช้และรับประโยชน์จากที่ดินแปลงพิพาทในวันทำสัญญาแต่ประการใด ทั้งนี้แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่จะทำสัญญาจะซื้อขายกัน ซึ่งต่างกับสัญญาเช่าซื้อ ที่จำเลยจะต้องนำที่ดินมาให้โจทก์เช่าหรือส่งมอบที่ดินให้โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินนั้น โดยมีคำมั่นว่าจะขาย แม้คำบรรยายฟ้องของโจทก์ข้อ 3ที่ว่าโจทก์ได้ตกลงเช่าซื้อที่ดินดังกล่าวในฟ้องข้อ 2 แต่ก็อ้างหนังสือสัญญาท้ายคำฟ้องซึ่งตรงกับสัญญาเอกสารหมาย จ.2 และโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสัญญาดังกล่าวเป็นหลัก ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงชอบแล้วและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีเจตนาเลิกสัญญาดังกล่าว ดังนี้ จึงมีผลว่าสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นอันเลิกกัน คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีหาใช่ว่าโจทก์หรือจำเลยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวเป็นฝ่ายเลิกสัญญาดังที่จำเลยฎีกาไม่

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาต่อมาว่า จำเลยที่ 2 มิได้มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เอกสารหมาย ล.1 เป็นหนังสือทวงให้โจทก์ชำระหนี้และให้โจทก์ปฏิบัติตามสัญญา มิใช่หนังสือบอกเลิกสัญญาแต่ประการใดนั้นเห็นว่าการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์ตามข้อความในเอกสารหมาย ล.1 เป็นการวินิจฉัยถึงเจตนาของจำเลยโดยพิจารณาจากเอกสารดังกล่าวซึ่งเป็นการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยฎีกาว่าเอกสารดังกล่าวไม่ใช่หนังสือบอกเลิกสัญญา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 7,000 บาท นั้นชอบแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในเงินดังกล่าว นับจากเดือนสิงหาคม 2514 จนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นได้ว่าเป็นข้อที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดไป เพราะศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยเสียดอกเบี้ยหลังจากที่จำเลยได้ทราบถึงการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ในเดือนกรกฎาคม 2515 ที่ถูกจึงต้องให้จำเลยเสียดอกเบี้ยนับจากเดือนสิงหาคม 2515 และศาลอุทธรณ์มิได้แก้ไขข้อที่ผิดพลาดนี้ ชอบที่ศาลฎีกาจะแก้ไขให้ถูกต้อง โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143

พิพากษายืน แต่ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่เดือนสิงหาคม2515 จนกว่าจะชำระเสร็จ

Share