คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิดเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายและเงินอื่นๆ จำเลยให้การว่าจำเลยเลิกจ้างเพราะโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง และยังประมาทเลินเล่อทำให้เงินของจำเลยสูญหายไป จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และฟ้องแย้งเรียกเอาเงินจำนวนที่สูญหายไป เงินที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้องแย้งจึงเป็นเงินที่โจทก์ทำสูญหายไปเพราะโจทก์ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยในขณะที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ซึ่งจำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายและเงินอื่น มิใช่เป็นการเรียกร้องเอาเงินอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของโจทก์ตามสัญญาจ้างเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 บริษัทล็อกซเลย์ จำกัด (มหาชน) จ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งผู้แทนขาย จนถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2544 บริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) โอนย้ายโจทก์ไปทำงานกับจำเลยซึ่งเป็นบริษัทในเครือโดยนับอายุงานต่อเนื่องในตำแหน่งหน้าที่การงานครั้งสุดท้ายเป็นผู้แทนขายอาวุโส ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 7 สิงหาคม 2546 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์ไม่มีความผิด และไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน เป็นเงิน 120,000 บาท มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ารวม 25 วัน เป็นเงิน 12,500 บาท จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์เป็นเงิน 3,000 บาท มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2546 เป็นเงิน 2,500 บาท มีสิทธิได้รับค่านายหน้าจากการงาน (คอมมิชชัน) เป็นเงิน 9,300 บาท มีสิทธิได้รับค่าน้ำมันรถเป็นเงิน 12,000 บาท โจทก์ขอค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเป็นเงิน 5,400,000 บาท และมีสิทธิได้รับใบสำคัญแสดงว่าโจทก์ทำงานมานานเท่าใด และงานที่ทำนั้นเป็นอย่างไร ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่านายหน้าจากการขาย (คอมมิชชัน) จำนวน 9,300 บาท ค่าน้ำมันรถจำนวน 12,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างจำนวน 3,000 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 2,500 บาท ค่าชดเชยจำนวน 120,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 12,500 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 5,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าจ้าง ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี กับค่าชดเชย และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการผ่านงาน
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้รับโอนย้ายโจทก์จากบริษัทล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) โจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2544 จึงนับอายุงานต่อเนื่องไม่ได้ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยในตำแหน่งผู้แทนขายอาวุโส มีหน้าที่ดูแลจัดเก็บงานและทำงานสรุปยอดขายประจำวันเพื่อนำเงินที่ได้จากการดำเนินงานประจำวันฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารภายในวันเดียวกับที่ขายตามระเบียบของจำเลย แต่โจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรง และยังประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงคือ โจทก์ไม่นำเงินที่ได้จากการดำเนินกิจการในร้านประจำวันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำนวนเงิน 50,130.50 บาท และวันที่ 1 กรกฎาคม 2546 จำนวนเงิน 61,431 บาท ฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารในวันเดียวกันและยังเก็บเงินทั้งหมดไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานที่ไม่สามารถล็อกกุญแจได้ เป็นเหตุให้เงินดังกล่าวสูญหายไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดประจำปีและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าน้ำมันรถจากการทำงาน โจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบการทำงานของจำเลยและประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายคือเงินที่สูญหายไปจำนวน 111,561.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2546 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำเลยขอถือเอาหนี้ค่าคอมมิชชันตามคำฟ้องของโจทก์มาหักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระให้แก่จำเลย ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลือตามฟ้องแย้งแก่จำเลย
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งในคำให้การและฟ้องแย้งว่า รับคำให้การจำเลย สำเนาให้โจทก์ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยระบุว่าโจทก์กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วยก็ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาจ้างแรงงานมาแสดง ดังนั้นฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องที่กล่าวอ้างว่าโจทก์กระทำผิดฐานละเมิดเท่านั้น จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งโดยเห็นว่าฟ้องแย้งไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และเงินอื่นที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามสัญญาจ้างดังกล่าว จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ เพราะโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงและยังประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงโดยไม่นำเงินที่ได้มาจากการดำเนินกิจการในร้านฝากเข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารตามระเบียบของจำเลย แต่เก็บเงินทั้งหมดไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานที่ไม่สามารถล็อกกุญแจได้เป็นเหตุให้เงินของจำเลยสูญหายไป จึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและเงินอื่นให้แก่โจทก์และฟ้องแย้งเรียกเอาเงินจำนวนที่สูญหายไปเนื่องจากโจทก์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยอันเป็นการประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เงินจำนวนที่โจทก์เรียกร้องตามฟ้องแย้งจึงเป็นเงินที่โจทก์ทำสูญหายไปเพราะโจทก์ประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบของจำเลยในขณะที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ซึ่งจำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การเพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นการเรียกร้องเอาเงินอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานของโจทก์ตามสัญญาจ้างเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ชอบที่ศาลแรงงานกลางจะรับฟ้องแย้งไว้พิจารณา ที่ศาลแรงงานกลางไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้ดำเนินการต่อไป

Share