คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1514/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างอุทธรณ์ ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลอุทธรร์ภาค 3 ต้องวินิจฉัยมีว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ด่วนสรุปข้อเท็จจริงโดยฟังเป็นยุติตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์เก๋งยี่ห้อบีเอ็มดับเบิ้ลยู รุ่น 525 ไอ สีดำ หมายเลขทะเบียน 1 ฬ 1525 กรุงเทพมหานคร ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวในฐานะผู้เช่าซื้อ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลในรัฐบาล มีนายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้แทน จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลในรัฐบาลสังกัดกระทรวง จำเลยที่ 2 มีนายจรัล ตฤณเจริญพงษ์ (ที่ถูก ตฤณวุฒิพงษ์) รองอธิบดีเป็นผู้แทน จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลตาลสุม สังกัดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ตู้สีขาว หมายเลขทะเบียน ป-2941 อุบลราชธานีของโรงพยาบาลตาลสุมไปในทางการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จ้าง โดยขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนสรรพสิทธิ์มุ่งหน้าไปโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเมื่อถึงทางแยกถนนสรรพสิทธิ์ตัดกับถนนบูรพาใน ซึ่งมีสัญญาณจราจรไฟแดง ด้วยความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่ไม่หยุดรอสัญญาณจราจรไฟแดง แต่จำเลยที่ 1 กลับขับรถยนต์หักหลบรถจักรยานยนต์ที่จอดอยู่ข้างหน้าฝ่าสัญญาณไฟแดงมาเฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ ทำให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถจำนวน 261,925 บาท และค่าขาดประโยชน์จากการใช้สอยรถวันละ 1,500 บาท รวม 50 วัน เป็นเงิน 75,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหาย 336,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในทำนองเดียวกันว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโรงพยาบาลตาลสุม มีหน้าที่ขับรถพยาบาลคันเกิดเหตุซึ่งได้รับอนุญาตให้เป็นรถฉุกเฉินตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 (19) ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ขับรถฉุกเฉินนำผู้ป่วยใกล้คลอดจากโรงพยาบาลตาลสุมไปส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์อันเป็นเหตุฉุกเฉินโดยเปิดสัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และไฟกระพริบตลอดทาง เมื่อไปถึงสี่แยกที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องฝ่าสัญญาณจราจรไฟแดงเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย จึงขับรถด้วยความระมัดระวังโดยให้สัญญาณแตรหลายครั้ง ขณะนั้นรถคันอื่นจอดเปิดทางให้รถของจำเลยที่ 1 ผ่านไปก่อน แต่รถของโจทก์ซึ่งขับมาด้วยความเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร แล่นเข้ามาในสี่แยกจนเป็นเหตุให้ชนกับรถที่จำเลยที่ 1 ขับตรงบริเวณหน้าประตูด้านซ้าย เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 จำเลยทั้งสองไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต จำหน่ายคดีในส่วนจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จำนวน 185,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พฤษภาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความให้จำนวน 7,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก (ที่ถูกควรระบุด้วยว่า กับให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ)
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 สรุปฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างอุทธรณ์ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ต้องวินิจฉัยมีว่าเหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ในฐานะหน่วยงานของรัฐต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใด เพราะถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถฉุกเฉินของโรงพยาบาล โดยใช้ไฟสัญญาณวับวาบ ให้เสียงสัญญาณไซเรน และเปิดไฟขอทางไปตามถนนเพื่อนำผู้ป่วยใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล โดยขับรถด้วยความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์เช่นนั้นตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 75 (4) และรถคันอื่นทั้งสี่ด้านต่างหยุดแล้ว แต่โจทก์กลับขับรถด้วยความเร็วสูงไม่ชะลอความเร็วเมื่อเข้าใกล้ทางร่วมทางแยกพุ่งชนรถของจำเลยที่ 2 จริงแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่อาจเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อได้ และไม่ต้องรับผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ ย่อมส่งผลให้จำเลยที่ 2 ในฐานะหน่วยงานของรัฐไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ด่วนสรุปข้อเท็จจริงโดยฟังเป็นยุติตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งผลก็คือจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 1 สังกัดอยู่ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ถือได้ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวที่คู่ความโต้เถียงกัน เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141 (5) และมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง และเพื่อให้คดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล ทั้งผลการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิฎีกาของคู่ความ ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพื่อให้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในประเด็นข้อพิพาทให้ถูกต้องและพิพากษาใหม่ ในชั้นนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์”
พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่.

Share