คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4273/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุมาโดยชำระเงินดาวน์และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่เช่าซื้อ เมื่อ ส. ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์เสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จาก ส. ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกับภัยรถยนต์ของ ส. แม้ว่าบริษัท ก. ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 จะได้ชำระราคารถยนต์ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อไปแล้ว ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่ซึ่งโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้เท่านั้น เงินดาวน์ดังกล่าวเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุและไม่เป็นค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ให้เช่าซื้อได้รับไปจากบริษัท ก. ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2540 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา นายพรศิล โอวาท บุตรของโจทก์ที่ 2 ได้ขับรถกระบะหมายเลขทะเบียน 6 ฎ – 9650 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถที่โจทก์ที่ 1 ได้เช่าซื้อมาจากบริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บรรทุกลูกชิ้นของโจทก์ที่ 2 ไปตามถนนสายบางบัวทอง – นนทบุรี จากสี่แยกบางคูวัด มุ่งหน้าไปทางสะพานนวลฉวี ทันใดนั้นนายสวัสดิ์ ร่วมสุข สามีของจำเลยที่ 1 ขับรถแท็กซี่หมายเลขทะเบียน 1 ม – 2373 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 2 ไปตามถนนสายบางบัวทอง – นนทบุรี จากสะพานนวลฉวี มุ่งหน้าไปทางสี่แยกบางคูวัด ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเมื่อถึงที่เกิดเหตุบริเวณหน้าบ้านเมืองประชา นายสวัสดิ์ได้ขับรถเลี้ยวขวาเพื่อเข้าสถานีบริการน้ำมันโดยกะทันหันโดยไม่หยุดรอรถที่แล่นสวนทางมา เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่นายสวัสดิ์ขับชนกับรถยนต์คันที่นายพรศิลขับมา รถทั้งสองคันได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้นายพรศิล นายสวัสดิ์รวมทั้งผู้โดยสารที่นั่งมาในรถยนต์ของนายสวัสดิ์อีก 2 คน รวม 4 คน ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย กล่าวคือ รถกระบะหมายเลขทะเบียน 6 ฎ – 9650 กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายใช้การไม่ได้ ซึ่งบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ไปเฉพาะค่ารถที่โจทก์ที่ 1 ค้างชำระ แต่เงินดาวน์จำนวน 100,000 บาท ที่โจทก์ที่ 1 ชำระให้แก่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด นั้น โจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้รับชำระและลูกชิ้นของโจทก์ที่ 2 ที่ได้บรรทุกบนรถกระบะได้รับความเสียหายเป็นเงิน 40,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 เคยได้รับการอุปการะจากนายพรศิลเป็นเงินเดือนละ 3,000 บาท โจทก์ที่ 2 เรียกร้องเป็นเวลา 10 ปี แต่โจทก์ที่ 2 คิดเพียง 300,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท และให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินจำนวน 340,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ค่าเงินดาวน์รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ไม่เกี่ยวกับค่าเสียหายของตัวรถและไม่อยู่ในเงื่อนไขคุ้มครองตามสัญญาประกันภัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 330,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 19 มกราคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ทั้งนี้รับผิดเพียงไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยร่วมรับผิดชำระเงินจำนวน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 30,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ที่ 2 ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยทั้งสองให้เป็นพับ
โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินอีกจำนวน 79,000 แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ฎ -9650 กรุงเทพมหานคร โดยเช่าซื้อมาจากบริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ที่ 2 เป็นมารดาของนายพรศิล โอวาท ผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ฎ – 9650 กรุงเทพมหานคร ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนายสวัสดิ์ ร่วมสุข ผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1 ม – 2373 กรุงเทพมหานคร ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 นายพรศิลและนายสวัสดิ์ขับรถยนต์ดังกล่าวชนกันเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันเสียหาย ทั้งนายพรศิล นายสวัสดิ์ และผู้โดยสาร 2 คน ที่นั่งมาในรถยนต์ของนายสวัสดิ์ถึงแก่ความตาย เหตุรถยนต์ทั้งสองคันชนกันดังกล่าวเกิดจากความประมาทของนายสวัสดิ์ฝ่ายเดียว คดีระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยทั้งสองเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และคดีระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายจำนวน 79,000 บาท ที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เงินดาวน์เป็นเงินที่ชำระหนี้บางส่วนในการซื้อทรัพย์สิน โจทก์ที่ 1 นำเงินดาวน์ไปเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ เงินดาวน์จึงกลายสภาพเป็นทรัพย์สินหรือตัวรถยนต์แล้ว ไม่ใช่เงินของโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถที่จะแยกส่วนออกมาเพื่อเรียกร้องเอาแก่ผู้ทำละเมิดได้อีกต่อไป โจทก์ที่ 1 เพียงเรียกร้องค่าเสียหายที่ทรัพย์สินชำรุดเสียหายตามมูลละเมิดเท่านั้น เงินดาวน์จึงเป็นค่าเสียหายที่ไกลกว่าเหตุ และซ้ำซ้อนกับเงินค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับไปตามสัญญาประกันภัยแล้ว เห็นว่า โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุจากบริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยชำระเงินดาวน์จำนวน 79,000 บาท และชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวด ๆ ตามสัญญาเช่าซื้อและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 เงินดาวน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของราคารถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 เช่าซื้อ เมื่อนายสวัสดิ์ทำละเมิดเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจากนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ตามมูลละเมิดและกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.1 แม้ว่าบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาจะได้ชำระค่าสินไหมทดแทนราคารถยนต์ให้แก่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ไปแล้วก็ตาม ก็เป็นเพียงการชำระค่าเสียหายเท่ากับราคาค่าเช่าซื้อที่ยังขาดจำนวนอยู่เท่านั้น จึงเป็นการชำระราคารถยนต์หรือค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยรถยนต์ของผู้ทำละเมิดได้ การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องโดยตั้งรูปคดีว่า โจทก์ที่ 1 ได้ชำระเงินดาวน์ในการเช่าซื้อรถยนต์คันเกิดเหตุ นายสวัสดิ์ได้ทำละเมิดให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เช่าซื้อมาเสียหายใช้การไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์ที่ 1 ชำระเป็นเงินดาวน์ในการเช่าซื้อดังกล่าวในฐานะทายาทของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิดและจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของนายสวัสดิ์ผู้ทำละเมิด เท่ากับเป็นการเรียกเงินเท่ากับจำนวนเงินดาวน์เป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหาย เพราะมิใช่การเรียกเงินดาวน์คืนจากบริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ กรณีเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายราคารถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ที่เสียหายใช้การไม่ได้อันเป็นความเสียหายโดยตรงในผลแห่งละเมิด และเป็นการเรียกร้องค่าเสียหายตามมูลละเมิดและตามสัญญาประกันภัย จึงมิใช่ค่าเสียหายที่ไกลเกินกว่าเหตุ และไม่เป็นการเรียกค่าเสียหายซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทโตโยต้าลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับไปจากบริษัทกรุงเทพประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นราคารถยนต์คนละส่วนกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1

Share