แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 ที่ทวงถามให้จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 ขับชนเสาไฟฟ้าของโจทก์เสียหายใช้ค่าสินไหมทดแทน และโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 14 สิงหาคม 2541 พ้น 1 ปี ไปแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจึงขาดอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างและลูกจ้างผู้กระทำละเมิดขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ จึงไม่อาจอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ ตามมาตรา 193/29
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 4 ไม่อาจยกอายุความในมูลละเมิดมาใช้อ้างยันโจทก์ได้ และ ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคแรก บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย เมื่อความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2539 ซึ่งเกิดวินาศภัย โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 การฟ้องร้องจำเลยที่ 4 จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2539 เวลา 14.30 นาฬิกา จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 8405 ปทุมธานี ไปตามถนนสุวรรณศร เมื่อถึงบริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 147 ถึงที่ 148 ซึ่งเป็นทางโค้งในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างด้วยความประมาทเลินเล่อใช้ความเร็วสูงจนรถเสียหลักชนเสาไฟฟ้าแรงสูงของโจทก์หักชำรุด 1 ต้น สายไฟฟ้าขาดทำให้ทรัพย์โจทก์เสียหายเป็นเงิน 154,564 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ในผลแห่งละเมิดรวมทั้งเรียกร้องให้จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวใช้ค่าเสียหายแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่รวมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 154,564 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 4 ให้การว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 3 ผิดข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิด ค่าเสียหายไม่ควรเกิน 30,000 บาท คดีขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องคดีหลังจากเหตุเกิดแล้วกว่า 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 154,564 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 3 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80 – 8405 ปทุมธานี ไปตามถนนสุวรรณศร เมื่อถึงบริเวณทางแยกเข้าบ้านปากพลี หมู่ที่ 2 ตำบลปากพลี อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 147 ถึงที่ 148 ซึ่งเป็นทางโค้งในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 นายจ้างด้วยความประมาทเลินเล่อใช้ความเร็วสูงจนรถเสียหลักชนเสาไฟฟ้าแรงสูงของโจทก์หักชำรุด 1 ต้น สายไฟฟ้าขาด เสียหายเป็นเงิน 154,564 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้วตามเอกสารหมาย จ.9 จ.10 และ จ.11 คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า โจทก์รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 ที่ทวงถามให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าสินไหมทดแทนและโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 พ้น 1 ปี ไปแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่อาจอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น โจทก์ฟ้องขอให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน จำเลยที่ 4 ไม่อาจยกอายุความในมูลละเมิดมาใช้อ้างยันโจทก์ได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก บัญญัติว่า ในการเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทน ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย เมื่อความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2539 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 การฟ้องร้องจำเลยที่ 4 จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ