แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ตามสัญญาร่วมชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ว่า การที่ผู้ให้สัญญายอมเข้าร่วมชำระหนี้กับผู้เช่าบริการโทรศัพท์ ไม่ทำให้คู่สัญญาเดิมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเดิมนั้น ไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิม จึงมิใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ สัญญาเดิมไม่ระงับและการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์ก็ไม่ใช่การรับสภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่ง เมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แม้จะมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ก็มิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่ 2 คือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอคิดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 40,703 บาท นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) โจทก์จึงฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2538 ไม่ได้เพราะขาดอายุความ 5 ปี คงเรียกได้เฉพาะดอกเบี้ยหลังจากวันที่ 30 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมนายมานะ เมืองงาม เป็นคู่สัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์หมายเลข 053-711443 จากโจทก์ ซึ่งค้างชำระค่าเช่าใช้บริการไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 43,703 บาท ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 1 ติดต่อขอชำระหนี้ดังกล่าวโดยยินยอมชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมกับนายมานะ โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้เป็นงวด งวดแรกวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาเป็นเงิน 3,000 บาท และงวดต่อไปภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ในอัตราเดียวกันจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ว่ากรณีใด ๆ ถือว่าผิดนัดทั้งหมด และยินยอมให้โจทก์ดำเนินคดีได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าว และมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว แต่หลังจากทำสัญญาแล้ว ตั้งแต่งวดที่สองซึ่งถึงกำหนดชำระวันที่ 7 มิถุนายน 2536 จำเลยที่ 1 ไม่ผ่อนชำระให้โจทก์อีกจนถึงงวดสุดท้าย จึงคงค้างชำระหนี้ 40,703 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 เป็นเงิน 2,849.21 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 40,703 บาท นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 จนถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ย 22,386 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องรับผิดต่อโจทก์ 65,938.21 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 65,938.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 40,703 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะสัญญาร่วมชำระหนี้ตามฟ้องได้เปลี่ยนแปลงวิธีการชำระหนี้ใหม่โดยผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่งวดวันที่ 7 มิถุนายน 2536 จนถึงงวดสุดท้ายคือวันที่ 7 กรกฎาคม 2537 แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องในแต่ละงวด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ 40,703 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2536 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า เดิมนายมานะ เมืองงาม บิดาของจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาเช่าใช้บริการโทรศัพท์หมายเลข 053-711443 จากโจทก์ ซึ่งค้างชำระค่าเช่าใช้บริการไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 43,703 บาทต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2536 จำเลยที่ 1 ติดต่อขอชำระหนี้ดังกล่าวโดยขอผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ตามสัญญาร่วมชำระหนี้เอกสารหมาย จ.6 มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 ในวันทำสัญญาเอกสารหมาย จ.6 นั้น จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์งวดแรกเป็นเงิน 3,000 บาท และหลังจากนั้นเมื่อครบกำหนดชำระงวดที่ 2 คือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 จำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ให้โจทก์อีก โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การแต่เพียงว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี เท่านั้น จึงไม่มีประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามที่จำเลยทั้งสองฎีกา แม้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาก็เป็นการไม่ชอบ จำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีประเด็นเฉพาะว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี เท่านั้น เห็นว่า ตามสัญญาร่วมชำระหนี้เอกสารหมาย จ.6 ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ไว้ในข้อ 4 ว่า การที่ผู้ให้สัญญายอมเข้าร่วมชำระหนี้กับผู้เช่าใช้บริการโทรศัพท์คู่สายโทรศัพท์ ไม่ทำให้คู่สัญญาเดิมหลุดพ้นจากความรับผิดตามสัญญาเดิม และไม่ตัดสิทธิที่ผู้รับสัญญาจะระงับการให้บริการตามระเบียบขององค์การโทรศัพท์ ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิม เมื่อไม่มีการเปลี่ยนตัวลูกหนี้เดิมจึงมิใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ สัญญาเดิมไม่ระงับ และการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์จึงไม่ใช่การรับสารภาพหนี้ แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมายย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และเมื่อหนี้ตามสัญญาไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 แม้ตามสัญญาจะมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ก็มิใช่เงินที่ต้องผ่อนชำระทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (2) เมื่อตามข้อเท็จจริงจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระตั้งแต่งวดที่ 2 คือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาร่วมชำระหนี้ดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระหนี้ค่าเช่าใช้บริการโทรศัพท์แก่โจทก์ จำนวน 40,703 บาท แต่ดอกเบี้ยที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 40,703 บาท นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 7 มิถุนายน 2536 จนถึงวันฟ้องดอกเบี้ยเป็นเงิน 22,386 บาท นั้น ดอกเบี้ยที่โจทก์ฟ้องเนื่องจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาร่วมชำระหนี้ดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (1) โจทก์จึงฟ้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2538 ไม่ได้เพราะขาดอายุความ 5 ปี คงเรียกได้เฉพาะดอกเบี้ยหลังจากวันที่ 30 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปเท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.7 จึงต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาที่ทำไว้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากเงินต้น 40,703 บาท นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ