คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3679/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 18.10 โดยไม่ระมัดระวังปล่อยให้ พ. บุตรชายนำรถยนต์คันดังกล่าวที่โจทก์รับประกันภัยไว้ออกไปขับและยอมให้ บ. ซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์เป็นผู้ขับรถ ทั้งตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์บังคับให้จำเลยรับผิดในฐานผิดสัญญาประกันภัย มิใช่เป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 31 โจทก์ซึ่งได้ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 121,428 บาท ให้แก่ทายาทของผู้ประสบภัยและผู้ประสบภัยไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 19 และไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 16

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บ-1573 ร้อยเอ็ด ไว้จากจำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มีระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้ปกครองนายพิทักษ์ชน สมเพชร กับเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บ-1573 ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 เวลา 0.15 นาฬิกา (ที่ถูกประมาณ 23 นาฬิกา) นายบรม ผดุงศักดิ์หรือผดุงสัตย์ เพื่อนนายพิทักษ์ชนขับรถยนต์กระบะดังกล่าวไปตามถนนสายร้อยเอ็ด-เสลภูมิ มุ่งหน้าไปทางจังหวัดร้อยเอ็ด ถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 16 ถึง 17 โดยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ด้วยความเร็วสูงเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดในเวลากลางคืน จนไม่สามารถควบคุมรถได้ทำให้รถยนต์กระบะคันดังกล่าวตกจากถนนพุ่งชนต้นไม้ข้างทางรถยนต์กระบะได้รับความเสียหาย นายบรม กับนายณัฐพลหรือนัฐพร เวียงนนท์ ซึ่งโดยสารมาในรถถึงแก่ความตาย นายพิทักษ์ชน นายรักษ์ชูเกียรติ ชมภูแดง นายจตุรภูมิ สุวรรณพันธ์ และนายสุรชาติ ลาภอาสา ซึ่งโดยสารมาในรถเช่นกันได้รับอันตรายสาหัส หลังเกิดเหตุจำเลยแจ้งสำนักงานโจทก์สาขาร้อยเอ็ดว่า นายบรมผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์อันเป็นการผิดเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 18.10 จำเลยประสงค์ให้โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยไปก่อนแล้วจำเลยจะจ่ายเงินดังกล่าวคืนภายใน 7 วัน ตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 19 ข้อสัญญาพิเศษ ต่อมาวันที่ 2 เมษายน 2542 สำนักงานประกันภัยจังหวัดร้อยเอ็ดสั่งให้โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้บาดเจ็บและทายาทผู้ตายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 121,428 บาท และโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2542 ซึ่งจำเลยมีความรับผิดต้องชดใช้คืนแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 130,460 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 121,428 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัยจากรถโดยจะยกเอาข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 18.10 กรณีผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์มาปฏิเสธความรับผิดมิได้ เพราะขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 16 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ทราบแล้วว่าผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ แต่โจทก์ยินยอมจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ประสบภัย จึงฟ้องบังคับจำเลยไม่ได้ ทั้งกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 19 ข้อสัญญาพิเศษ ขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 16 เช่นกัน โจทก์มิได้บอกกล่าวทวงถามจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 121,428 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 9,032 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ-1573 ร้อยเอ็ด จากจำเลยผู้เอาประกันภัย เริ่มต้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2542 ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 มีข้อตกลงในข้อ 18 ว่า ข้อยกเว้น การประกันภัยไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจาก 18.10 การขับขี่โดยบุคคลที่ไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับขี่ใด ๆ หรือเคยได้รับแต่ถูกตัดสิทธิตามกฎหมาย หรือใช้ใบขับขี่รถจักรยานยนต์ไปขับขี่รถยนต์ และในข้อ 19 ว่า ข้อสัญญาพิเศษ ภายใต้จำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยที่ระบุไว้ในตาราง บริษัทจะไม่ยกเอาความไม่สมบูรณ์แห่งกรมธรรม์ประกันภัย หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัย หรือเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์นี้ เว้นแต่ข้อ 18.1 ถึง 18.6 เป็นข้อต่อสู้ผู้ประสบภัยเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์นี้ เมื่อบริษัทได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายหรือตามกรมธรรม์นี้ต่อผู้เอาประกันภัย เพราะกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้นซึ่งผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัย ผู้เอาประกันภัยต้องใช้จำนวนเงินที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นคืนให้บริษัทภายใน 7 วัน ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 นายบรม ผดุงศักดิ์หรือผดุงสัตย์ ซึ่งไม่เคยได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์และเป็นเพื่อนของนายพิทักษ์ชน สมเพชร บุตรชายจำเลยได้ขับรถยนต์ดังกล่าวโดยประมาทตกจากถนนไปชนต้นไม้ข้างทางเป็นเหตุให้นายบรมกับนายณัฐพลหรือนัฐพร เวียงนนท์ ซึ่งโดยสารมาในรถถึงแก่ความตาย ส่วนนายพิทักษ์ชน นายรักษ์ชูเกียรติ ชมภูแดง นายจตุรภูมิ สุวรรณพันธ์ และนายสุรชาติ ลาภอาสา ซึ่งโดยสารมาในรถเช่นเดียวกันได้รับอันตรายสาหัส ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2542 โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 121,428 บาท ให้แก่ทายาทของผู้ประสบภัยและผู้ประสบภัยดังกล่าว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยใช้เงินจำนวนที่โจทก์จ่ายไปคืนหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 16 ที่บัญญัติว่า “บริษัทจะยกเอาเหตุแห่งความไม่สมบูรณ์หรือการฝ่าฝืนเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างบริษัทกับเจ้าของรถ หรือการได้บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยกับเจ้าของรถเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ประสบภัยในการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นมิได้ เว้นแต่บริษัทได้มีหนังสือแจ้งการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยให้เจ้าของรถและนายทะเบียนทราบล่วงหน้า นั้นเป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้ผู้รับประกันภัยยกเหตุแห่งเงื่อนไขข้อตกลงของกรมธรรม์ประกันภัยระหว่างผู้รับประกันภัยกับเจ้าของรถเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อผู้ประสบภัยเกี่ยวกับการชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนกรณีที่มีการกำหนดเงื่อนไขความรับผิดของผู้รับประกันภัยกับเจ้าของรถในกรณีอื่น ๆ ย่อมไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามมาตรา 16 ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 18.10 ดังกล่าว โดยไม่ระมัดระวังปล่อยให้นายพิทักษ์ชนบุตรชายนำรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ออกไปขับและยอมให้นายบรมซึ่งไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์เป็นผู้ขับรถในขณะเกิดเหตุ ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดในฐานผิดสัญญาประกันภัย มิใช่เป็นการใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่ประการใด โจทก์ซึ่งได้ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นจำนวน 121,428 บาท ให้แก่ทายาทของผู้ประสบภัยและผู้ประสบภัยไปตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยให้ใช้เงินจำนวนดังกล่าวคืนแก่โจทก์ได้ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 19”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share