คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 913/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้แก่โจทก์จริง เมื่อหนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่ได้ปิดแสตมป์หรือเสียอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยที่ 5 ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคสอง
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันมิได้ปิดอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้แล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งร่วมกับจำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีทต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันด้วย แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1)
ในการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทโจทก์จะต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งตามสัญญาทรัสต์รีซีทในข้อ 4 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีท โดยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใดๆ เกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และในสัญญาข้อ 7 ระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 เมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้เพียงตามอัตราที่ระบุในสัญญาข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นเป็นกรณีระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัดซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 นี้ จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของโจทก็ตาม ย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้เพียงในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศของโจทก์เท่านั้น มิใช่อัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา เพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ จำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดได้ขอให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศและในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทในวงเงินสินเชื่อ 10,000,000 บาท เพื่อรับสินค้าไปก่อน โดยตกลงจะเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือเปลี่ยนแปลงตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าผูกพันตนค้ำประกันจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือยินยอมให้หักเงินในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 เพื่อให้ธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) หักเงินในบัญชีเพื่อชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยมิต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขอให้ธนาคารดังกล่าวเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตรวม 6 รายการ คือ
รายการที่ 1 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าเป็นเงิน 4,455,055 เยน จากผู้ขายสินค้าที่อยู่ประเทศญี่ปุ่น คือ คิทซ์ คอร์ปอเรชั่น ตามคำขอหมายเลข 001-07865-96 ธนาคารได้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลข 001-07865-96 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10 ต่อมาผู้ขายส่งสินค้ามาและทางธนาคารได้จ่ายเงินผ่านตัวแทนไปโดยการหักบัญชีตามวิธีการค้าระหว่างประเทศจากตั๋วแลกเงินจำนวน 4,368,969 เยน จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินชำระได้ทันทีจึงทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้กับธนาคารเพื่อจะได้รับสินค้าไปจำหน่ายโดย ขอรับสภาพหนี้และจะชำระคืนภายในวันที่ 15 เมษายน 2540 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีจำเลยที่ 3 และที่ 4 เข้าค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้โดยชำระแต่ดอกเบี้ยบางส่วนและต่อมาผิดนัดไม่ชำระทั้งดอกเบี้ยและต้นเงินตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 ถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงินค่าสินค้า 4,368,969 เยน คิดเป็นเงินไทย 906,233.39 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เยน เท่ากับ 0.207425 บาท) ดอกเบี้ย 294,823.80 บาท รวมเป็นเงิน 1,201,057.19 บาท)
รายการที่ 2 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้ารายเดิมโดยทำคำขอหมายเลข 001-08174-96 ธนาคารได้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลข 001-08174-96 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 14 ต่อมาผู้ขายส่งสินค้ามาและทางธนาคารได้จ่ายเงินแก่ตัวแทนตามตั๋วแลกเงินเรียกเก็บจำนวน 22,585.33 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับธนาคารเพื่อรับสภาพหนี้และขอขยายระยะเวลาในการชำระเงินคืนภายในวันที่ 15 เมษายน 2540 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 คำนวณต้นเงินค่าสินค้า 22,585.33 ดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินไทย 590,380.53 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 26.14บาท) และดอกเบี้ย 192,067.77 บาท รวมเป็นเงิน 782,448.30 บาท
รายการที่ 3 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้ารายเดิมโดยทำคำขอหมายเลข 001-08175-96 ธนาคารได้ออกเลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลขตามคำขอในวงเงิน 11,714,711 เยน ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 18 ต่อมาผู้ขายส่งสินค้าและเรียกเก็บเงินผ่านตัวแทนโดยตั๋วแลกเงิน จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับธนาคารมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วม เพื่อรับสภาพหนี้และจะชำระหนี้คืนภายในวันที่ 5 พฤษภาคม 2540 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย คำนวณค่าสินค้าเป็นเงินไทย 2,423,920.14 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เยน เท่ากับ 0.2069125 บาท) ดอกเบี้ยจำนวนเงิน 788,570.94 บาท คำนวณตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จนถึงวันฟ้อง รวมเป็นเงิน 3,212,491.08 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 21
รายการที่ 4 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าเป็นเงิน 22,364.16 ดอลลาร์สหรัฐจากผู้ขายสินค้ารายเดิม และได้ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลข 001-0973 ต่อมาผู้ขายส่งสินค้าและเรียกเก็บตามตั๋วแลกเงิน ธนาคารได้ชำระไปแล้วตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 23 จำเลยที่ 1 ได้มาทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับธนาคารและจะชำระหนี้คืนภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2540 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ผิดนัดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 คำนวณค่าสินค้าเป็นเงินไทย 576,324.50 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25.77 บาท) กับดอกเบี้ย 187,494.92 บาท รวมเป็นเงิน 763,819.32 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 25
รายการที่ 5 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้ารายเดิมโดยทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลข 001-09731-96 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 26 ต่อมาผู้ขายส่งสินค้าและเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินซึ่งธนาคารได้ชำระให้แล้วเป็นเงิน 3,555,052 เยน จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทจะชำระคืนภายในวันที่ 13 มิถุนายน 2540 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 28 เมื่อถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จึงค้างค่าสินค้าจำนวนดังกล่าวซึ่งคำนวณเป็นเงินไทย 803,352.88 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เยน เท่ากับ 0.225975 บาท) และดอกเบี้ยคำนวณจากวันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 261,353.80 บาท รวมเป็นเงิน 1,064,706.68 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 29
รายการที่ 6 จำเลยที่ 1 สั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายสินค้ารายเดิมโดยทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลข 001-00227-97 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 30 ต่อมาผู้ขายส่งสินค้ามาและเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงิน ธนาคารได้ชำระให้แล้วเป็นเงิน 4,495,905 เยน จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาทรัสต์รีซีทและรับสภาพหนี้โดยขอระยะเวลาในการชำระหนี้คืนภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2540 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี มีจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 32 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จำเลยที่ 1 ผิดนัด รวมค่าสินค้า จำนวนดังกล่าวซึ่งคำนวณเป็นเงินไทย 1,350,263 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เยน เท่ากับ 0.3003319 บาท) และดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 439,279.62 บาท รวมเป็นเงิน 1,789,543.31 บาท ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 33 โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งห้าแล้วเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้เป็นเงิน 8,814,065.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,650,475.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเป็นเงิน 1,789,543.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,350,263.69 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า ยอดหนี้ตามคำฟ้องไม่ถูกต้องเพราะจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้ต้นเงินไปแล้วจำนวน 2,000,000 บาท จากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 คงค้างเงินจำนวนเพียง 4,650,475.03 บาท มิใช่ 6,650,475.03 บาท ตามฟ้องของโจทก์ การคำนวณดอกเบี้ยของโจทก์ถึงวันฟ้องจำนวน 2,163,590.85 บาท เกินความจริงโจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 13, 18, 21, 25, 29 และ 32 จึงเป็นโมฆะ เพราะเกินกว่าข้อตกลงในสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวทวงถาม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีภูมิลำเนาแน่นอน การที่โจทก์ประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 9 แต่ได้บอกเลิกการค้ำประกันไปยังธนาคารมหานคร จำกัด (มหาชน) ก่อนจำเลยที่ 1 ก่อหนี้ตามฟ้อง จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด การทวงถามของโจทก์ไม่ได้ส่งไปยังภูมิลำเนาจำเลยที่ 2 แต่ประกาศหนังสือพิมพ์จึงไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 5 ให้การว่า สัญญาค้ำประกันตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 32 เป็นเอกสารปลอม เพราะเป็นแบบพิมพ์เปล่าขณะจำเลยที่ 5 ลงลายมือชื่อไว้เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีบัญชีสินเชื่อประเภทขายลดเช็คและจำเลยที่ 5 เคยค้ำประกันไว้ แต่จำเลยที่ 5 ไม่เคยค้ำประกันสัญญาทรัสต์รีซีทของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ โจทก์จัดทำเอกสารปลอมขึ้น จำเลยที่ 5 มีภูมิลำเนาแน่นอน โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามแต่ได้ประกาศหนังสือพิมพ์เป็นการกระทำโดยมิชอบ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ชำระเงินจำนวน 8,814,065.88 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ให้เรียกได้ตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด แต่ทั้งนี้ไม่ให้เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 6,650,03 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2542) ไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ชำระเงินจำนวน 1,789,543.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศของโจทก์ให้เรียกได้ตามที่มีประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด แต่ทั้งนี้ไม่ให้เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 1,350,263.69 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 12 พฤศจิกายน 2542) ไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับกันไป และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 20,000 บาท
จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยที่ 5 อุทธรณ์ว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 ยังมิได้การชำระค่าอากรแสตมป์โดยมิได้ปิดอากรแสตมป์ลงในสัญญาค้ำประกัน ส่วนรายการชำระค่าอากรแสตมป์ตามเอกสารหมาย จ.56 ก็ไม่ใช่รายการชำระค่าอากรแสตมป์สำหรับสัญญาค้ำประกันดังกล่าว สัญญาค้ำประกันจึงเป็นตราสารที่ยังมิได้มีการชำระค่าอากรแสตมป์ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ โจทก์จึงไม่มีหลักฐานใดที่จะแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น แม้จำเลยที่ 5 มิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เพิ่งจะยกขึ้นเป็นข้อโต้เถียงคัดค้านในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 5 มีสิทธิยกขึ้นอ้างได้และเห็นว่า โจทก์มีนางสาวสุวดี นวกะวงษ์การ พนักงานของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าอากรแสตมป์ของสัญญาต่างๆ ไว้เรียบร้อยแล้วตามเอกสารหมาย จ.56 ซึ่งเป็นเอกสารชุดรวม 13 ฉบับ ประกอบด้วยสำเนาทะเบียนคุมตราสารสำเนาแบบขอเสียภาษีอากรแสตมป์เป็นตัวเงินและสำเนาใบเสร็จรับเงิน แต่นางสาวสุวดีกลับเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 5 ถามค้านว่านางสาวสุวดีไม่ใช่ผู้ทำเอกสารหมาย จ.56 จึงไม่ทราบว่าเป็นการชำระอากรแสตมป์ของสัญญาใดบ้าง ทั้งรับว่าสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ และไม่ทราบว่าจะมีการชำระค่าอากรแสตมป์ของสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นตัวเงินสดให้กรมสรรพากรหรือไม่ นอกจากนั้นตามสำเนาทะเบียนคุมตราสารเอกสารฉบับที่ 11 ในเอกสารชุดหมาย จ.56 ปรากฏว่ามีรายการลำดับที่ 10 เป็นรายการชำระค่าอากรแสตมป์สำหรับตราสารเลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลขที่ 001-00227-79 อันเป็นเลตเตอร์ออฟเครดิตหมายเลขที่เดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาทรัสต์รีซีทโดยมีจำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.51 โดยมีการชำระค่าอากรแสตมป์เพียง 30 บาท เท่ากับอัตราต่ออากรแสตมป์ที่ต้องเสียสำหรับเลตเตอร์ออฟเครดิตดังกล่าวตามข้อ 14 (ก) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ซึ่งกำหนดไว้ว่าเลตเตอร์ออฟเครดิตที่ออกในประเทศไทยจำนวนเงินตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไปต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 30 บาท ทั้งตามสำเนาทะเบียนคุมตราสารฉบับนี้ระบุว่าเป็นทะเบียนคุมตราสารระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2540 อันเป็นเวลาก่อนการทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 แสดงชัดว่าเป็นรายการชำระค่าอากรแสตมป์สำหรับเลตเตอร์ออฟเครดิตเพียงอย่างเดียว หาใช่เป็นการชำระค่าอากรแสตมป์สำหรับสัญญาค้ำประกันด้วยไม่ สำหรับเอกสารฉบับอื่นๆ ในเอกสารชุดหมาย จ.56 แม้ว่าโจทก์จะส่งสำเนาแบบขอเสียภาษีอากรแสตมป์เป็นตัวเงินและสำเนาใบเสร็จรับเงินแนบท้ายสำเนาทะเบียนคุมตราสารเอกสารหมาย จ.11 แต่ปรากฏว่าวันที่ลงในสำเนาคำขอเสียภาษีและสำเนาใบเสร็จรับเงินเป็นเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2540 อันเป็นเดือนก่อนเดือนพฤษภาคม 2540 ที่จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันและก็ไม่ปรากฏว่า มีรายการใดที่เป็นการชำระค่าอากรแสตมป์สำหรับสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 ซึ่งจะต้องเสียค่าอากรแสตมป์สำหรับสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 ซึ่งจะต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 10 บาท ตามข้อ 17 (ง) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ที่กำหนดไว้สำหรับสัญญาค้ำประกันจำนวนเงินเกิน 10,000 บาท ขึ้นไป ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 ได้ปิดแสตมป์หรือเสียอากรตามกฎหมายแล้วคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 จำเลยที่ 5 ให้การต่อสู้ว่าสัญญาค้ำประกันเป็นเอกสารปลอม โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยที่ 5 ได้ทำสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 ไว้แก่โจทก์จริง เมื่อคดีได้ความว่าสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่ได้ปิดแสตมป์หรือเสียอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงใช้สัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้ ถือได้ว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องรับบังคับคดีแก่จำเลยที่ 5 ไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 วรรคสอง อุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 5 ไม่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 5 รับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 5 ฟังขึ้น
อนึ่ง เนื่องจากในสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 นอกจากมีจำเลยที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันแล้ว ยังมีจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมค้ำประกันโดยร่วมกับจำเลยที่ 5 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมซึ่งถือว่าเป็นการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกกันได้ แม้คดีนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะมิได้อุทธรณ์ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงฟังแล้วว่า สัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 มิได้ปิดอากรแสตมป์ใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีไม่ได้แล้ว จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งร่วมกับจำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาทรัสต์รีซีท ฉบับที่ 6 ต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 ด้วย แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 45 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) อย่างไรก็ตาม สำหรับจำเลยที่ 3 แม้จะไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 ดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น แต่จำเลยที่ 3 ได้ค้ำประกันสัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทที่จำเลยที่ 1 ทำไว้ต่อโจทก์ในวงเงิน 10,000,000 บาท ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.16 ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะหลุดพ้นความรับผิดเนื่องจากเป็นหนี้อันแบ่งแยกมิได้ตามสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.51 แต่จำเลยที่ 3 ก็ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งครอบคลุมยอดหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตฉบับที่ 6 เอกสารหมาย จ.27 จำนวน 1,350,263.69 บาท เพราะยอดหนี้ดังกล่าวรวมกับยอดหนี้ตามสัญญาค้ำประกันฉบับอื่นแล้วยังไม่เกิน 10,000,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.16 ส่วนจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดยอดหนี้ตามหมาย จ.27 ดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่า ในการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญาทรัสต์รีซีทในคดีนี้โจทก์จะต้องปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตามสัญญาทรัสต์รีซีทในข้อ 4 ระบุว่า จำเลยที่ 1 ต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีท โดยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามประกาศของโจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใดๆ เกี่ยวกับหนี้ทรัสต์รีซีท และในสัญญาข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่กำหนดในข้อ 4 เมื่อตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 ระบุให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้เพียงตามอัตราที่ระบุในสัญญาในข้อ 4 และข้อความในสัญญาข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นเป็นกรณีระบุถึงอัตราดอกเบี้ยในกรณีที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดนัด ซึ่งแม้สัญญาข้อ 4 นี้ จะระบุให้ใช้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของโจทก์ก็ตามย่อมหมายถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกเก็บจากลูกค้าที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ฉะนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้เพียงในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศของโจทก์เท่านั้น มิใช่อัตราสูงสุดในกรณีลูกค้าผิดเงื่อนไขหรือผิดสัญญา เพราะตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลดเอกสารหมาย จ.13 ข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยในอัตราสำหรับลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้เฉพาะกรณีที่ลูกค้าปฏิบัติผิดเงื่อนไขแล้วเท่านั้น
คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เริ่มคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าผิดนัดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จากต้นเงินยอดหนี้เลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีททั้งหกฉบับซึ่งได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้นว่า ในกรณีที่สัญญาทรัสต์รีซีทข้อ 7 อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเดียวกับสัญญาข้อ 4 เมื่อฟังว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ตามข้อ 4 ได้เพียงอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปไม่ผิดนัดการชำระหนี้แล้ว ในคดีนี้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดลูกค้าทั่วไปไม่ผิดนัด ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ในคดีนี้จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ขึ้นมา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
นอกจากนี้เมื่อรวมยอดหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ 1 ถึง 5 แล้วมียอดต้นเงินรวม 5,300,211.34 บาท ฉบับที่ 6 มียอดต้นเงิน 1,350,263.69 บาท รวมยอดต้นเงินทั้งหกฉบับเป็นเงิน 6,650,475.03 บาท แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ชำระหนี้ในต้นเงิน 6,650,475.03 บาท และ 1,350,263.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่ากับพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับผิดในต้นเงินฉบับที่ 6 จำนวน 1,350,263.69 บาท ซ้ำซ้อนกัน 2 ครั้ง ซึ่งไม่ถูกต้องและเกินคำขอของโจทก์ จึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 5 ด้วยและให้ยกคำขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.51 เป็นเงินจำนวน 1,789,543.31 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,350,263.69 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระต้นเงินจำนวน 5,300,211.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระต้นเงิน 1,350,263.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยนับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดดังกล่าวต้องไม่เกิน 14.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 5 ให้เป็นพับ.

Share