คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 390/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้กำหนดวิธีการให้ผู้รับจ้างตัดต้นไม้และให้คนควบคุมดูแลการตัดต้นไม้ตลอดเวลา แต่ในวันที่มีการตัดต้นไม้และทำให้ไม้ล้มพาดสายไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของโจทก์ขาดก่อให้เกิดความเสียหายกลับไม่มีผู้ใดควบคุม การที่ผู้รับจ้างไม่มีความรู้ความชำนาญในการตัดต้นไม้ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างข้างเคียงหรือไม่ยอมทำตามวิธีการที่ถูกต้อง ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2541 เวลากลางวัน จำเลยใช้ให้ลูกจ้างของจำเลยตัดต้นไม้สูงประมาณ 20 เมตร ในที่ดินของจำเลย ลูกจ้างของจำเลยตัดต้นไม้ดังกล่าวด้วยความประมาทเลินเล่อ ต้นไม้ล้มพาดสายไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของโจทก์ขาดและพาดลงมายังสะพานไฟฟ้าแรงต่ำเป็นเหตุให้ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดเพลิงไหม้ฉนวนสายไฟฟ้า และการระเบิดที่สายไฟฟ้ากับตู้ควบคุมไฟฟ้าภายในโรงงานของโจทก์ โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโรงงานเป็นเงิน 1,349,568.04 บาท จำเลยในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,349,568.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยว่าจ้างนายธรรมนูญ พงษ์พิบูลย์ ตัดต้นไม้ จำเลยไม่มีอำนาจสั่งการเกี่ยวกับการทำงานของลูกจ้าง และจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรในการเลือกหาผู้รับจ้างแล้วจึงไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 1,349,568.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้อุทธรณ์ จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยว่าจ้างนายธรรมนูญ พงษ์พิบูลย์ ตัดต้นไม้ในที่ดินของจำเลย วันเกิดเหตุนายธรรมนูญกับพวกตัดต้นไม้ด้วยความประมาทเลินเล่อต้นไม้ล้มพาดสายไฟฟ้าแรงสูงในที่ดินของโจทก์เป็นเหตุให้เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในโรงงานของโจทก์ได้รับความเสียหาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยนำสืบว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2541 จำเลยได้ว่าจ้างผู้รับเหมาให้ซ่อมแซมหลังคา ท่อน้ำทิ้ง ขุดบ่อพักน้ำ และตัดต้นไม้ มีผู้เสนอราคา 2 ราย จำเลยตกลงว่าจ้างนายธรรมนูญ ในการตัดต้นไม้ จำเลยตกลงกับนายธรรมนูญว่าให้ตัดทอนเป็นท่อน ๆ จากยอดแล้วใช้เชือกผูกหย่อนลงมา ไม่ให้ตัดทีเดียวทั้งต้น โดยมีนายชูเกียรติ เสณีตันติกุล อดีตผู้จัดการโรงงานของจำเลย และนายประทิน ไม่ทราบชื่อสกุล หัวหน้าช่างซ่อมบำรุงทั่วไปของจำเลยเป็นผู้ควบคุมการตัดต้นไม้ แต่ในวันเกิดเหตุบุคคลทั้งสองไม่ได้อยู่คอยควบคุม นายธรรมนูญตัดต้นไม้ที่โคนต้นเป็นเหตุให้ต้นไม้ล้มลงเกิดความเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า การที่จำเลยเป็นผู้กำหนดวิธีการให้ผู้รับจ้างตัดต้นไม้ และให้นายชูเกียรติกับนายประทินควบคุมดูแลการตัดต้นไม้ตลอดเวลา แต่ในวันเกิดเหตุกลับไม่มีผู้ใดควบคุม และตามนามบัตรของนายธรรมนูญท้ายหนังสือประเมินราคาเอกสารหมาย ล.2 ปรากฏว่านายธรรมนูญประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างต่อเติมอาคารโรงงาน งานเฟอร์นิเจอร์ และงานก่อสร้างทุกชนิดหาได้มีความรู้ความชำนาญในการตัดต้นไม้ไม่ ดังนี้ การที่ผู้รับจ้างไม่มีความรู้ความชำนาญในการตัดต้นไม้ที่จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งก่อสร้างข้างเคียงหรือไม่ยอมทำตามวิธีการที่ถูกต้อง พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ผู้ว่าจ้างให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 845,353.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นฎีกา โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1.

Share