แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิที่จะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพยานก่อนให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่จำต้องยกประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็มีสิทธิที่จะนำสืบในประเด็นนั้นๆ ได้ และมีอำนาจนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้โดยไม่จำต้องซักถามพยานโจทก์ในเรื่องที่จำเลยจะนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อไป
การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและทำการสอบสวนจำเลยแล้วได้สั่งปล่อยจำเลยชั่วคราวโดยมีประกันในวันเดียวกันไปจนถึงวันฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการจับกุมจำเลยในวันที่จำเลยเข้ามอบตัวแล้วตามป.อ. มาตรา 136 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น เมื่อคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท จึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 2 และมาตรา 3 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 และมาตรา 9 พนักงานอัยการโจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมง หรือต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องครั้งแรกภายในสี่สิบแปดชั่วโมง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2540 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยขับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน หนองคาย จ – 9676 มีนายธรณินทร์ ทวยเพียง นั่งซ้อนท้ายไปตามถนนบ้านโคกสะอาด-บ้านหนองแสง มุ่งหน้าไปบ้านหนองแสงด้วยความเร็วสูงล้ำกึ่งกลางของทางเดินรถที่ขับสวนมาด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์กล่าวคือ ในสภาพถนนเช่นนั้น จำเลยต้องไม่ขับรถด้วยความเร็วสูงและบังคับรถให้อยู่ในทางเดินรถของตน และควรขับรถชิดด้านซ้ายของทางเดินรถที่จำเลยขับโดยให้ถือกึ่งกลางของทางเดินรถเป็นหลัก จำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จนเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับพุ่งเข้าชนรถยนต์คันที่นายอุ่นเรือน ปินตา ขับสวนมา ทำให้รถทั้งสองคันได้ความเสียหาย นายธรณินทร์ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกก้านคอเป็นอัมพาตระดับคอลงมาได้รับอันตรายสาหัส ทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (8), 157, 160 วรรคสาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4) (8), 157, 160 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับวันที่และเดือนที่จำเลยเข้ามอบตัวให้ผิดไปจากของเดิม โดยจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน มีการสอบสวนจำเลยไว้และจำเลยได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวนในวันเดียวกันคือวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 มิใช่วันที่ 8 มิถุนายน 2540 แสดงว่าจำเลยถูกจับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องจากมูลฐานการผัดฟ้องฝากขังที่อ้างว่าจำเลยเข้ามอบตัววันที่ 8 มิถุนายน 2540 จึงไม่ถูกต้องและล่วงเลยเวลาแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติในชั้นนี้ โดยคู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน หนองคาย จ-9676 โดยมีนายธรณินทร์ ทวยเพียง ซ้อนท้าย ชนกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน น-6312 หนองคาย ที่นายอุ่นเรือน ปินตา ขับสวนมาเป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย และนายธรณินทร์ได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังเกิดเหตุจำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพันตำรวจโทอำนวย ศรัทธาธรรม พนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย มีการสอบสวนจำเลยไว้ และจำเลยได้รับการประกันตัวไปในวันเดียวกัน ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2540 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอผัดฟ้องจำเลยและนายอุ่นเรือนเป็นเวลา 6 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาต เมื่อครบกำหนดพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องต่ออีก 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นอนุญาตตามขอและครั้งสุดท้ายพนักงานอัยการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 อีก 6 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตทุกครั้งจำเลยไม่ได้ไปศาลเพราะจำเลยมีประกันตัว ต่อมาภายในกำหนดเวลาที่ขอผัดฟ้อง โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยเข้ามอบตัวในวันที่ 8 มิถุนายน 2540 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยโดยมีการขอผัดฟ้องไว้โดยชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้จึงอยู่ที่ว่าจำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนวันใด พันตำรวจโทอำนวย ศรัทธาธรรม พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนอ้างว่าจำเลยเข้ามอบตัว พยานเป็นผู้จัดทำหลักฐานบันทึกการมอบตัวเอกสารหมาย จ.11 และเป็นคนสอบคำให้การจำเลยเอกสารหมาย จ.9 ส่วนจำเลยนำสืบว่าในวันที่จำเลยไปมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนนั้นจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราว มีการทำสัญญาประกันไว้ด้วย จำเลยชำระเงินค่าสัญญาไป 2 บาท ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 จำเลยมอบตัววันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ไม่ใช่วันที่ 8 มิถุนายน 2540 ตามเอกสารหมาย จ.11 และบันทึกการมอบตัวเอกสารหมาย จ.11 มีการลบและแก้ไขวันที่กับเดือน เนื่องจากพนักงานสอบสวนหลงลืมผัดฟ้อง มีการเรียกให้นายประกันนำตัวจำเลยไปพบแล้วขอร้องให้ยินยอมในการแก้ไข ครั้งแรกจำเลยไม่ยอม มีการพาคนไปล้อมบ้านจำเลยตอนกลางคืน กลัวว่าจำเลยจะหลบหนี จำเลยก็ยังไม่ยอมให้แก้ไข บ่ายวันรุ่งขึ้นจำเลยจะไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ พันตำรวจโทอำนวยนำตำรวจไปดึงจำเลยลงจากรถ เอาตั๋วโดยสารจำเลยไปด้วย ไม่ยอมให้จำเลยไปกรุงเทพฯ สุดท้ายจำเลยแอบหลบไปพบทนายความเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ทนายความแนะนำไม่ให้จำเลยยอมให้แก้ไข แต่ในที่สุดจำเลยก็ต้องยอมให้พนักงานสอบสวนแก้ไขวันที่ตามเอกสารหมาย จ.11 เนื่องจากเกรงว่าจะถูกกลั่นแกล้งยัดเยียดข้อหาคดีอาญาอื่นให้อีก ตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.9 ก็มีการแก้ไขวันที่และเดือน เห็นว่า แม้บันทึกการมอบตัวผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.11 จะระบุวันที่ในการมอบตัวเป็นวันที่ 8 มิถุนายน 2540 ก็ตาม แต่ในช่องวันที่และเดือนมีร่องรอยการแก้ไขจากของเดิมเป็นวันที่ 8 มิถุนายน ในการมอบตัวนั้นผู้ต้องหายินยอมให้พนักงานสอบสวนตรวจยึดรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อยามาฮ่า สีเหลือง หมายเลขทะเบียน หนองคาย จ-9676 คันที่เกิดเหตุ พนักงานสอบสวนจึงได้จัดให้มีการตรวจสภาพรถตามเอกสารหมาย จ.4 ปรากฏว่าในช่องวันที่และเดือนที่ทำการตรวจสภาพรถที่ร่องรอยการแก้ไขจากของเดิมเป็นวันที่ 9 มิถุนายน พันตำรวจโทอำนวยได้แจ้งข้อหาและสอบคำให้การจำเลยตามเอกสารหมาย จ.9 ปรากฏว่าในช่องวันที่และเดือนที่ทำการสอบสวนและบันทึกการตรวจสอบบัตรประจำตัวประชาชนในช่องซ้ายมือของเอกสารหมาย จ.9 ก็มีร่องรอยการแก้ไขจากของเดิมเป็นวันที่ 8 มิถุนายน และ 8 มิ.ย. ร่องรอยการแก้ไขทุกแห่งเป็นการแก้ไขโดยใช้น้ำยาลบคำผิดสีขาวป้ายทับวันที่และเดือนเดิมแล้วลงวันที่และเดือนใหม่ทับลงไปโดยไม่มีการเซ็นชื่อกำกับการแก้ไข และโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า เหตุใดจึงต้องทำการแก้ไขดังกล่าว จึงเป็นพิรุธอย่างยิ่ง เมื่อศาลฎีกาได้ใช้แว่นขยายส่องดูที่ด้านหลังของเอกสารหมาย จ.9 ช่องซ้ายมือและ จ.11 ปรากฏว่ามองเห็นร่องรอยเดิมของวันที่และเดือนก่อนมีการแก้ไขว่าเป็นวันที่ 14 พ.ค. และ 14 พฤษภาคม ได้ชัดเจนซึ่งสอดคล้องตรงกับสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.3 ที่ศาลชั้นต้นหมายเรียกมาจากสถานีตำรวจภูธรตำบลหอคำ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นใบเสร็จรับเงินค่าคำร้องขอประกันที่พนักงานสอบสวนอนุญาตให้จำเลยประกันตัวในวันเดียวกับที่เข้ามอบตัวในคดีนี้ ตามพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยเท่าที่นำสืบมา ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบคำให้การจำเลยแล้วได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยไปในวันเดียวกัน ต่อมาพนักงานสอบสวนหลงลืมไม่ได้ยื่นคำร้องขอผัดฟ้องจำเลยต่อศาล จนกระทั่งเวลาล่วงเลยมาหลายวัน จึงมีการแก้ไขวันที่และเดือนที่จำเลยเข้ามอบตัวใหม่แล้วยื่นคำร้องขอผัดฟ้องจำเลยตามที่ปรากฏในคดีนี้ ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมิได้นำใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.3 มาซักถามพันตำรวจโทอำนวย พยานโจทก์เพื่อให้มีโอกาสได้อธิบายถึงที่มาของเอกสาร ประกอบกับตามคำร้องขอประกันตัวที่ปรากฏในสำนวนปรากฏชัดเจนว่ามีการปิดอากรแสตมป์เพียง 1 บาท เท่านั้น จึงขัดแย้งกัน เอกสารหมาย ล.3 จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นใบเสร็จรับเงินค่าประกันตัว เห็นว่า จำเลยและนางสมจิตร บ่อแก้ว ผู้ประกันตัวจำเลยเป็นเพียงชาวบ้านที่มีการศึกษาน้อย ย่อมไม่ทราบเกี่ยวกับระเบียบราชการในการประกันตัวแต่อย่างใด เจ้าพนักงานตำรวจเรียกเงินค่าคำร้องขอประกันเท่าใดจำเลยก็ต้องจ่ายให้ และเอกสารหมาย ล.3 เป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานตำรวจและศาลหมายเรียกจากสถานีตำรวจภูธรตำบลหอคำ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย เป็นใบเสร็จรับเงินที่เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้ทำขึ้นเอง มิใช่เอกสารที่ฝ่ายจำเลยทำขึ้นแล้วนำมาส่งศาลแต่อย่างใด ส่วนข้อที่ว่าจำเลยไม่นำเอกสารหมาย ล.3 มาซักถามพันตำรวจโทอำนวยก่อน จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้นั้น เห็นว่า ในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิที่จะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพยานก่อนให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่จำต้องยกประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็มีสิทธิที่จะนำสืบในประเด็นนั้นๆ ได้และมีอำนาจนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้โดยไม่จำต้องซักถามพยานโจทก์ในเรื่องที่จำเลยจะนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อไป ดังนั้น สำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.3 จึงรับฟังได้ การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและทำการสอบสวนจำเลยแล้วได้สั่งปล่อยจำเลยชั่วคราวโดยมีประกันในวันเดียวกันไปจนถึงวันฟ้อง พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการจับกุมจำเลยในวันที่จำเลยเข้ามอบตัวแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 136 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น เมื่อคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท จึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 2 และมาตรา 3 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 และมาตรา 9 กล่าวคือ เมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาแล้วพนักงานสอบสวนต้องส่งตัวผู้ต้องหาให้พนักงานอัยการฟ้องต่อศาลให้ทันภายในกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมง หากจำเป็นไม่สามารถฟ้องได้ทันภายในกำหนด ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องต่อไปได้อีกคราวละไม่เกินหกวัน รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 5 คราว และห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดี เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมอัยการ ปรากฏว่าคดีนี้จำเลยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 พนักงานอัยการโจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมง หรือต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องครั้งแรกภายในสี่สิบแปดชั่วโมง แต่พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอผัดฟ้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2540 จึงพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 7 แล้ว เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องคดีโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.