คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3ร่วมกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงมีเพียง 32,500 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกัน เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหาดังกล่าวให้ เป็นการไม่ชอบตามมาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาปัญหาเพียงข้อเดียวว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีราคารวมเป็นเงิน 162,500บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของขำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลจึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

ย่อยาว

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกับคดีหมายเลขแดงที่ 73/2546 ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในสำนวนนี้ตามเดิมและเรียกโจทก์ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 73/2546 ว่าโจทก์ที่ 1 และเรียกนายธนูชัย แฝงฤทธิ์ จำเลยในสำนวนคดีดังกล่าวว่าจำเลยที่ 4 และคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว
โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นใจความว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2544 โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ที่ 1 ไปสู่ขอจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาสมรสเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2544 ได้ทำพิธีแต่งงานตามประเพณีกันโดยฝ่ายโจทก์มอบของหมั้นเป็นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท และสินสอดเป็นเงินสด จำนวน 130,000 บาท ให้แก่ฝ่ายจำเลยครบถ้วนแล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 1 ชวนจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรส แต่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ยอมให้จดทะเบียนสมรสและยอมให้จำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยที่ 4 ถือว่าฝ่ายจำเลยผิดสัญญาหมั้น โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาหมั้น ขอให้จำเลยที่ 1 คืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,000 บาท หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 คืนเงินสดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้คืนเงินจำนวน 162,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก้โจทก์ทั้งสองนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 100,000 บาท จนกว่าจำเลยที่ 4 จะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยทั้งสามมิได้ผิดสัญญาหมั้น เพราะโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 แต่งงานตามประเพณีและอยู่กินฉันสามีภริยาประมาณ 1 ปีเศษ โจทก์ที่ 1 ก็ไม่เคยนำพาจำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรส เมื่อจำเลยที่ 1 เรียนจบได้หางานทำกับโจทก์ที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร แต่มีเรื่องทะเลาะกัน โจทก์ที่ 1 จึงบอกเลิกกับจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิเรียกของหมั้นและสินสอดคืน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ไม่ได้ร่วมประเวณีกับจำเลยที่ 1 และนับแต่วันที่โจทก์ที่ 1 แต่งงานตามประเพณีกับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 4 ก็ไม่เคยเกี่ยวข้องกับครอบครัวของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจำนวน 100,000 บาท จากจำเลยที่ 4 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนแก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยฝนอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 32,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 130,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 3,000 บาท ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนของหมั้น สร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินสินสอดจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์สำหรับที่เลยที่ 1 จึงมีเพียง 32,500 บาท ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว จำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ปัญหาในชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกันนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหาดังกล่าวให้เป็นการไม่ชอบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 242 (1) และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหาดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกาปัญหาเพียงข้อเดียวว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้น ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง และสำหรับในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ต้องคืนของหมั้นและสินสอดแก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีราคารวมเป็นเงิน 162,500 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งมิใช่คดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว คดีต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองจึงเป็นฎีกาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ 3 ดังกล่าวมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เฉพาะส่วนที่วินิจฉัยในข้อเท็จจริงให้จำเลยที่ 1 ร่วมกันหรือแทนกันคืนของหมั้นสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท ราคา 32,500 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสองโดยให้บังคับเรื่องของหมั้นสำหรับจำเลยที่ 1 ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้ยกฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นฎีกานอกจากที่คืนให้เป็นพับ

Share