คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4939/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรเป็นตัวแทนขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาในต่างประเทศผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินคืนแก่โจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการในราชอาณาจักรโดยจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมกระทำได้โดยส่ง ณ สถานที่ที่จำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 1 ตัวแทนใช้ประกอบกิจการหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในการประกอบกิจการในราชอาณาจักรตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ วรรคหนึ่ง โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายสินค้าแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ เมื่อโจทก์ไม่ได้รับมอบสินค้าที่สั่งซื้อทั้งที่ชำระเงินไปแล้วและได้มีการบอกเลิกสัญญาซื้อขายแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแต่ลำพังตนเองด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 824
เงินจำนวน 2,239,140 บาท รวมต้นเงินจำนวน 1,859,853 บาท กับดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเข้าด้วยกัน การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,239,140 บาท จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2540 โจทก์ตกลงซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 1 เครื่อง จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในราคาเครื่องละ 54,200 ปอนด์สเตอร์ลิง โดยโจทก์ทำการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตเพื่อชำระค่าสินค้าผ่านทางธนาคารให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ จำเลยที่ 2 ได้รับชำระค่าสินค้าเรียบร้อยแล้ว แต่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 ซ้ำอีก ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 2 ได้ส่งสินค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์ทราบว่าได้ชำระค่าสินค้าซ้ำซ้อนให้แก่จำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ช่วยติดตามทวงถามให้จำเลยที่ 2 ส่งเงินคืนให้แก่โจทก์ แต่ในระหว่างนั้นประมาณวันที่ 10 กรกฎาคม 2540 โจทก์ตกลงซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอีกจำนวน 2 เครื่อง พร้อมชุดอุปกรณ์ จำนวน 2 ชุด จากจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 2 ในราคาเครื่องละ 29,245 ปอนด์สเตอร์ลิง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 58,490 ปอนด์สเตอร์ลิง โดยตกลงนำเงินที่โจทก์โอนซ้ำให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 54,875.64 ปอนด์สเตอร์ลิง มาหักกลบลบหนี้และให้โจทก์ชำระเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 3,614.34 ปอนด์สเตอร์ลิง โจทก์ตกลงและโอนชำระเงินส่วนที่เหลือดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว ต่อมาประมาณวันที่ 28 ตุลาคม 2541 จำเลยทั้งสองได้ส่งมอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้แก่โจทก์เพียง 1 เครื่อง ส่วนอีก 1 เครื่อง จำเลยทั้งสองไม่ส่งมอบให้โจทก์จึงได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เหลือภายใน 15 วัน โดยหากไม่ส่งมอบภายในกำหนดเวลาก็ขอบอกเลิกสัญญานั้น แต่จำเลยทั้งสองยังเพิกเฉยจนล่วงเลยเวลาที่กำหนด จำเลยทั้งสองจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ รวมต้นเงินและดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสองต้องชำระจำนวน 2,239,140 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดนัดและไม่เคยได้รับเงินจากโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องโดยระบุภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ว่าเป็นที่เดียวกันกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำที่มีเจตนาไม่สุจริตเพื่อไม่ให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าถูกฟ้อง มูลคดีนี้เกิดในต่างประเทศ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลสั่งให้พิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ไปฝ่ายเดียว
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,239,140 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งในชั้นอุทธรณ์ว่า เมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2540 โจทก์ติดต่อซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินโดยทางโทรสารจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ทำใบเสนอราคาสินค้าไปให้โจทก์ โจทก์ตกลงซื้อสินค้าดังกล่าว 1 เครื่อง ในราคา 54,200 ปอนด์สเตอร์ลิง และได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตชำระค่าสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 แต่พนักงานโจทก์เข้าใจผิดว่าโจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าสินค้า จึงสั่งให้ธนาคารโอนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซ้ำอีกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2540 ต่อมาโจทก์ทราบเรื่องที่ผิดพลาดจึงแจ้งจำเลยที่ 1 ให้ติดต่อกับจำเลยที่ 2 เพื่อคืนเงินให้แก่โจทก์ ระหว่างนั้นโจทก์ตกลงซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 เครื่อง ในราคา 58,490 ปอนด์สเตอร์ลิง โดยให้นำเงินที่โอนซ้ำให้แก่จำเลยที่ 2 มาหักกลบลบหนี้กัน จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์มีเงินค้างในบัญชีของจำเลยที่ 2 รวมต้นเงินและดอกเบี้ยจำนวน 54,875.64 ปอนด์สเตอร์ลิง โจทก์ต้องชำระค่าสินค้าเพิ่มอีก 3,614.36 ปอนด์สเตอร์ลิง โจทก์จึงสั่งให้ธนาคารโอนเงินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยที่ 2 แต่หลังจากนั้นโจทก์ได้รับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่สั่งซื้อเพิ่มเพียง 1 เครื่อง โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาซื้อขายและเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงินค่าซื้อสินค้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 จนถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,239,140 บาท มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า การที่โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรเป็นตัวแทนขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาในต่างประเทศผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ตามที่ตกลง ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินคืนแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการในราชอาณาจักรโดยจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมกระทำได้โดยส่ง ณ สถานที่ที่จำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 1 ตัวแทนใช้ประกอบกิจการหรือสถานที่อันเป็นถิ่นที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนในการประกอบกิจการในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 83 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในทำนองว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจในการรับชำระเงินจากโจทก์โดยตรง โจทก์ได้โอนเงินชำระค่าสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 โดยตรง โจทก์ติดต่อซื้อขายสินค้าและตกลงชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 เองไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ต้องการเงินที่จ่ายซ้ำซ้อนไปคืนก็ต้องไปเรียกเอาแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่จ่ายเงินที่โจทก์โอนไปให้จำเลยที่ 2 คืนแก่โจทก์ เห็นว่า โจทก์มีนายศิริพงษ์ บัวภิรมย์ เป็นพยานให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงซึ่งได้ความว่าโจทก์ติดต่อเสนอซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากจำเลยที่ 1 และบริษัทต่าง ๆ จำเลยที่ 1 ได้เสนอขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้แก่โจทก์โดยทางโทรสาร ตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย จ.1 ราคาสินค้าที่ซื้อขายกันก็ได้ความว่าได้มีการต่อรองราคากันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เมื่อตกลงกันได้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงส่งใบกำกับสินค้า ใบสำคัญแสดงรายการเกี่ยวกับสินค้า ใบรับรองแหล่งกำเนิดของสินค้า และใบสำคัญผู้รับเงินค่าสินค้าของจำเลยที่ 2 ไปให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ชำระค่าสินค้าที่ซื้อให้แก่จำเลยที่ 2 โดยการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ตามเอกสารหมาย จ.3 เมื่อโจทก์ ต้องการซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 เครื่อง จำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้ส่งโทรสารแจ้งรายละเอียดของสินค้าและราคาตามเอกสารหมาย จ.8 โจทก์ได้ต่อรองค่าสินค้ากับจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 2 หักเงินค่าสินค้าจากเงินที่โจทก์ชำระค่าสินค้าซ้ำซ้อนในการซื้อขายครั้งแรก จำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้ยืนยันราคาสินค้าที่ตกลงขายในครั้งหลังให้โจทก์ทราบตามเอกสารหมาย จ.9 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งรายละเอียดจำนวนเงินค่าสินค้า จำนวนเงินที่โจทก์มีค้างอยู่ในบัญชีของจำเลยที่ 2 และจำนวนเงินค่าสินค้าที่โจทก์ต้องชำระเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ.14 เมื่อโจทก์ได้รับเอกสารเรียกเก็บเงินตามเอกสารหมาย จ.14 แล้ว จึงสั่งให้ธนาคารโอนเงินที่ต้องชำระเพิ่มเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.15 ถึง จ.17 จำเลยที่ 1 มีนายบุญลือ ปรัชญาจุฑา เป็นพยานเพียงปากเดียวมาให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงปฏิเสธว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ติดต่อซื้อขายสินค้ากันเองและชำระค่าสินค้ากันโดยตรงจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงนำสินค้าเข้า ประกอบ และติดตั้งสินค้าให้แก่โจทก์โดยได้รับค่าจ้างในการประกอบและติดตั้งสินค้าจากจำเลยที่ 2 ซึ่งก็เป็นคำเบิกความลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ แม้จะได้ความว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจในการรับชำระเงินค่าสินค้าจากโจทก์ โดยโจทก์โอนเงินค่าสินค้าให้แก่จำเลยที่ 2 โดยตรง ตามพฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าวก็ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาซื้อขายสินค้าแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศ เมื่อโจทก์ไม่ได้รับมอบสินค้าที่สั่งซื้อทั้งที่ชำระเงินไปแล้วและได้มีการบอกเลิกสัญญาซื้อขายแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดแต่ลำพังตนเองด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 824 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,239,140 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นไม่ถูกต้องเนื่องจากเงินจำนวน 2,239,140 บาท เป็นจำนวนเงินที่รวมต้นเงินจำนวน 1,859,853 บาท กับดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเข้าด้วยกัน การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,239,140 บาท จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็มีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,859,853 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ไม่แก้อุทธรณ์จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้.

Share