คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1646/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ร้องเกิดเมื่อกลางปี 2516 นับถึงวันยื่นคำร้องเป็นเวลาเกือบ 30 ปี เหตุการณ์ในช่วงเวลาจัดพิธีสมรสและการตั้งครรภ์ไม่มีหลักฐานปรากฏวันเดือนปีที่แน่นอนเป็นเรื่องคาดคะเนเอาโดยประมาณจึงอาจผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้บ้าง ทั้งร้องขอแก้ไขคำร้องขอโดยอ้างเหตุพิมพ์ข้อความผิดพลาดเล็กน้อยเพื่อให้ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยทั้งมีเหตุผลสมควร ผู้ร้องมีสิทธิขอแก้ไขคำร้องได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องขอชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 180 ตอนท้ายแล้ว
เดิมผู้คัดค้านมิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ในคำคัดค้านเพิ่งมายื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อผู้ร้องอายุ 28 ปี เป็นการฟ้องคดีเมื่อเกิน 1 ปี นับแต่บรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1556 วรรคสาม หลังจากมีการสืบพยานผู้ร้องเสร็จไปบางส่วนแล้ว อ้างเหตุผลว่าเป็นทนายความคนใหม่ของผู้คัดค้านเพิ่งได้รับการแต่งตั้งและตรวจสำนวนพบคำคัดค้านยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ จึงเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านหลังจากพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดคือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน เหตุที่อ้างก็ไม่ใช่เหตุผลอันสมควรตามกฎหมายและการขอแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นเรื่องกำหนดเวลาฟ้องคดีตามาตรา 1556 วรรคสามเป็นอายุความฟ้องคดีซึ่งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ทั้งมิใช่การแก้ข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 แล้ว จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความให้ศาลจำต้องวินิจฉัยและเป็นข้อมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์
ผู้ร้องเป็นบุตรสืบสายโลหิตของ ป. ป. แสดงออกต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาของมารดาผู้ร้อง มิได้แสดงออกต่อญาติข้างบิดาหรือเพื่อนบ้านแถวบ้านพักของ ป. ซึ่งอยู่ต่างท้องที่กันว่าผู้ร้องเป็นบุตร ก็ถือได้ว่าพฤติกรรมที่รู้กันอยู่ทั่วไปตลอดเวลาว่าผู้ร้องเป็นบุตร ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1555 (7) แล้ว

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายประสิทธิ์ สมบูรณ์เจียร ผู้ตาย และนางมยุรา เลิศทิพย์รัตน์ ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน โดยนายประสิทธิ์และนางมยุราสมรสกันตามประเพณีเมื่อปี 2514 อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ต่อมาปี 2516 เมื่อนางมยุราตั้งครรภ์ผู้ร้องได้ 7 เดือน ผู้ตายกับนางมยุราแยกทางกัน หลังจากนั้นนางมยุราคลอดผู้ร้อง แต่นางมยุราเกรงว่าผู้ร้องจะมีปมด้อยเรื่องบิดามารดาแยกทางกัน จึงแจ้งในใบสูติบัตรว่าผู้ร้องบุตรของนายโอฬาร หิรัญโอภาสวงศ์ หรือในขณะนั้นใช้ชื่อว่านายเต๊ก แซ่ลี้ ซึ่งเป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกับนางมยุรา และแจ้งว่านางอรุณ ก้านกันยาหรือต้นกันยา ภริยาของนายโอฬาร เป็นมารดา โดยหลังจากผู้ร้องคลอด นายประสิทธิ์ผู้ตายได้แสดงออกโดยเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยให้การอุปการะส่งเสียเลี้ยงดูตลอดมา ต่อมาวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 นายประสิทธิ์ถึงแก่กรรม ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายประสิทธิ์ สมบูรณ์เจียร ผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายประสิทธิ์ ผู้ตาย และเป็นทายาทของผู้ตาย นายประสิทธิ์เป็นโสดไม่มีภริยา ไม่มีบุตร ผู้ร้องไม่ใช่บุตรของนายประสิทธิ์ นายประสิทธิ์ไม่เคยส่งเสียเลี้ยงดู ไม่เคยแสดงออกโดยเปิดเผยต่อญาติพี่น้องและคนอื่น ๆ ว่าผู้ร้องเป็นบุตร เมื่อนายประสิทธิ์ถึงแก่กรรม ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดงานศพแต่เพียงผู้เดียว ไม่ปรากฏตัวผู้ร้องในงานศพ นายประสิทธิ์ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยากับนางมยุรา โดยเลิกร้างกันมา 30 ปีแล้ว ไม่เคยติดต่อกับนางมยุราตลอดมา ขอให้ศาลยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ร้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายประสิทธิ์ สมบูรณ์เจียร ผู้ตาย ค่าฤชา ธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้คัดค้านข้อแรกว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขปี พ.ศ.ตามคำร้องเดิมที่ว่า เมื่อประมาณปี 2515 นางมยุรา เลิศทิพย์รัตน์ มารดาผู้ร้องตั้งครรภ์ผู้ร้องได้ประมาณ 7 เดือน เป็นประมาณปี 2516 นับถึงวันยื่นคำร้องคดีนี้เป็นเวลาเกือบ 30 ปี เหตุการณ์ในช่วงเวลาจัดพิธีสมรสและการตั้งครรภ์กดังกล่าวไม่มีหลักฐานเอกสารปรากฏวันเดือนปีที่แน่นอนเป็นเรื่องคาดคะเนเอาโดยประมาณจึงผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปได้บ้าง เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นนานมาแล้ว ทั้งผู้ร้องขอแก้ไขโดยอ้างเหตุพิมพ์ข้อความผิดพลาดเล็กน้อยเพื่อให้ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย ทั้งมีเหตุผลสมควร ผู้ร้องมีสิทธิขอแก้ไขคำร้องได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องขอชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 ตอนท้ายแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาผู้คัดค้านข้อที่สองว่า ประเด็นข้อพิพาทเรื่องคดีของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เดิมผู้คัดค้านมิได้ให้การต่อสู้เรื่องอายุความไว้ในคำคัดค้านเพิ่งมายื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อผู้ร้องอายุ 28 ปี เป็นการฟ้องคดีเมื่อเกิน 1 ปีนับแต่บรรลุนิติภาวะ คดีของผู้ร้องขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 วรรคสาม หลังจากมีการสืบพยานผู้ร้องเสร็จไปบางส่วนแล้วอ้างเหตุผลว่าเป็นทนายความคนใหม่ของผู้คัดค้านเพิ่งได้รับการแต่งตั้งและตรวจสำนวนพบคำค้านยังบกพร่องไม่สมบูรณ์ จึงเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านหลังจากพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดคือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ทั้งเหตุที่อ้างไม่ใช่เหตุอันสมควรตามกฎหมาย และการขอแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นเรื่องกำหนดเวลาฟ้องคดีตามมาตรา 1556 วรรคสามดังกล่าวเป็นอายุความฟ้องคดีมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ทั้งมิใช่การแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำคัดค้านโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180 แล้ว จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องอายุความให้ศาลจำต้องวินิจฉัยและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ปัญหาตามฎีกาผู้คัดค้านข้อที่สามมีว่า ผู้ร้องเป็นบุตรนายประสิทธิ์ สมบูรณ์เจียร ผู้ตายหรือไม่ ได้ความว่าเมื่อนายประสิทธิ์ถูกคนร้ายฆ่าชิงทรัพย์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2544 นายปรีชาหรือหมึก พุฒใจบุญ ไปบอกนางมยุรามารดาผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านทราบเรื่องนายประสิทธิ์ทางวิทยุข่าว จ.ส.100 จึงมาแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าเป็นพี่ชายนายประสิทธิ์เก็บเอกสารและทรัพย์สินของนายประสิทธิ์ไปโดยจะรีบเผาศพนายประสิทธิ์วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2544 นางมยุราจึงไปแจ้งความเป็นหลักฐานว่าผู้ร้องเป็นบุตรของนายประสิทธิ์ และขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์ความเป็นทายาทตามรายงานประจำวันเอกสารหมาย ร.14 พันตำรวจโทพรชัย สุธีรคุณแพทย์ประจำสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานแพทย์ใหญ่ กรมตำรวจเบิกความว่า พันตำรวจโทภานุวัฒน์ ฐิตะมาดี ส่งศพนายประสิทธิ์มาพร้อมตัวอย่างเลือดของนางมยุราและผู้ร้องเพื่อให้ตรวจยีนพันธุกรรม พยานตรวจเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกทั้งสามคนแล้วได้ผลการตรวจสารพันธุกรรมเปรียบเทียบสรุปได้ว่าบุคคลทั้งสามมีความสัมพันธ์เป็นพ่อแม่ลูกกัน ตามรายงานตรวจพิสูจน์เอกสารหมาย ร.9 นางมยุรา นายโอฬาร หิรัญโอภาสวงศ์ พี่ชายร่วมบิดามารดาเดียวกับนางมยุรา นางสาวเนียนนารถ คนหาร บุตรนางเนืองซึ่งบิดานายประสิทธิ์ยกนายประสิทธิ์ให้นางเนืองเลี้ยงดูมาแต่เล็กและร่วมกันไปสู่ขอจัดพิธีแต่งงานให้นายประสิทธิ์กับนางมยุราเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตรงกันว่าผู้ร้องเป็นบุตรนายประสิทธิ์และนางมยุรา นอกจากนี้นายประวิทย์ แซ่ลิ้ม เพื่อนบ้านรู้จักนางมยุรามาแต่รุ่นบิดามารดานางมยุรานานประมาณ 30 ปี เบิกความว่าเห็นนายประสิทธิ์มาหาผู้ร้องเรียกกันว่าพ่อลูก นายปรีชาน้องนางสาวเนียนนารถซึ่งเคยทำงานและพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกับนายประสิทธิ์เบิกความว่านายประสิทธิ์เคยใช้ให้พยานเอาเงินไปให้ผู้ร้องในฐานะที่เป็นบุตรประจำ ส่วนผู้คัดค้านนำพยานมาเบิกความรับว่านายประสิทธิ์เคยแต่งงานกับนายมยุราแต่ไม่นานก็เลิกกัน นายประสิทธิ์ไม่มีบุตรและอยู่คนเดียวมาตลอด พยานผู้คัดค้านส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องเป็นญาติกับผู้คัดค้าน แต่ไม่คุ้นเคยกับผู้ร้องกับนางมยุราเพื่อนบ้านที่อ้างเป็นพยานคนกลางก็จะเบิกความทำนองว่านายประสิทธิ์ไม่เคยเล่าเรื่องส่วนตัวของนายประสิทธิ์ให้ฟัง เห็นนายประสิทธิ์อยู่บ้านคนเดียวไม่มีครอบครัว ซึ่งไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าผู้ร้องมิใช่บุตรนายประสิทธิ์ ข้อฎีกาของผู้คัดค้านเกี่ยวกับเรื่องการแจ้งข้อมูลการตรวจพิสูจน์หลักฐานเกี่ยวกับบุคคลและความเป็นพ่อแม่ลูกของนางมยุราซึ่งอ้างว่ามีข้อพิรุธรวมทั้งความเห็นของแพทย์อื่นตามเอกสารที่อ้างมาท้ายฎีกานั้นผู้คัดค้านมิได้ถามค้านให้ปรากฏเมื่อพันตำรวตโทพรชัยพยานโจทก์มาเบิกความ ศาลฎีกาจึงไม่รับฟังข้ออ้างของผู้คัดค้านดังกล่าว พยานหลักฐานของผู้ร้องที่นำสืบมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องเป็นบุตรสืบสายโลหิตของนายประสิทธิ์ สมบูรณ์เจียร ผู้ตาย สำหรับพฤติการณ์ที่นายประสิทธิ์แสดงออกโดยเปิดเผยแก่บุคคลทั่วไปรับรองว่าผู้ร้องเป็นบุตรนั้น เห็นว่า บิดานายประสิทธิ์ยกนายประสิทธิ์ให้นางเนืองไปเลี้ยงดูแต่เด็ก เมื่อมารดาถึงแก่ความตายนายประสิทธิ์มิได้พักอาศัยอยู่กับบิดาญาติพี่น้องข้างบิดารวมทั้งผู้คัดค้านเป็นเวลาหลายปี แม้ไม่ปรากฏขอเท็จจริงชัดเจนว่านายประสิทธิ์มีพฤติการณ์แสดงออกต่อญาติข้างบิดาและเพื่อนบ้านแถวบ้านพักนายประสิทธิ์ซึ่งอยู่ต่างท้องที่กันรับรองว่าผู้ร้องเป็นบุตร แต่นายประสิทธิ์ได้แสดงออกต่อญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านของนางมยุราที่แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของนางมยุราถึงพฤติการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่ามีพฤติการณ์ที่รู้กันอยู่ทั่วไปตลอดมาว่าผู้ร้องเป็นบุตรนายประสิทธิ์แล้ว ส่วนฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านไม่เป็นสาระสำคัญอันจะทำให้ผลการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

Share