คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8777/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะสามารถรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ และขอให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ดังนี้ เป็นเรื่องของการฟ้องเพื่อให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หาได้เป็นการฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 12 ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว นอกจากนี้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย และโจทก์ฟ้องจำเลยอื่น ๆ ซึ่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยทั้งสิบห้า จึงไม่อาจกล่าวอ้างเหตุที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 12 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์
คำว่า “NETBURST” เป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น ไม่ได้เป็นคำศัพท์ที่มีและใช้อยู่โดยปรากฏในพจนานุกรม ดังนั้น การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาความหมายของคำว่า “NETBURST” โดยแยกคำเป็นภาคส่วนแล้วนำความหมายของแต่ละภาคส่วนตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาเลือกมารวมกันเพื่อให้ความหมายของคำดังกล่าวโดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดจึงหยิบยกความหมายนั้น ๆ มาใช้ จึงไม่ถูกต้องเพราะทั้งคำว่า “NET” และคำว่า “BURST” ยังมีความหมายอื่น ๆ อีก ทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์การนำคำดังกล่าวมารวมกันจึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด ดังนั้น คำว่า NETBURST ไม่เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง แต่มีลักษณะบ่งเฉพาะ
คำว่า NETBURST มีลักษณะบ่งเฉพาะ นายทะเบียนต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของโจทก์ตามขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน โจทก์ยังไม่มีสิทธิขอให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “INTEL NETBURST” ของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะสามารถรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ โดยโจทก์ไม่จำต้องปฏิเสธว่าไม่ขอถือสิทธิเป็นของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้คำว่า “NETBURST” และให้จำเลยทั้งสิบห้ายกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL NETBURST” ของโจทก์ ตามคำขอเลขที่ 422810 โดยโจทก์ไม่จำต้องปฏิเสธว่าไม่ขอถือสิทธิเป็นของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้คำว่า “NETBURST”
จำเลยทั้งสิบห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า และให้จำเลยทั้งสิบห้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL NETBURST” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 422810 โดยโจทก์ไม่จำต้องปฏิเสธไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้คำว่า “NETBURST” กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท
จำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 15 เป็นกรรมการในคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2543 โจทก์ ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอที่ 422810 คำว่า “INTEL NETBURST” ใช้กับสินค้าจำพวก 9 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์มีส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของเครื่องหมายเป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายหรือไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะและมีคำสั่งให้โจทก์ผู้ขอจดทะเบียนแสดงปฏิเสธว่า ไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า “NETBURST” ในส่วนของเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาอุทธรณ์แล้วเห็นว่า ภาคส่วนคำว่า “NETBURST” หมายถึง เครือข่ายการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่จะแยกกระดาษออกมาเป็นแผ่นๆ เมื่อนำมาใช้กับสินค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียน นับว่าเป็นคำบรรยายถึงตัวสินค้า ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามกฎหมายจึงเห็นควรรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยให้โจทก์แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือสิทธิเป็นของตนเองแต่ผู้เดียวที่จะใช้คำว่า “NETBURST” ตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้า ประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 (น่าจะหมายถึงนายยรรยง ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 12 หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์ในทำนองว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 12 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นหรือลงนามในการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ในเรื่องนี้แต่อย่างใด เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเพื่อให้ยกเลิกคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หาได้เป็นการฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 12 ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใดไม่ การที่จำเลยดังกล่าวจะได้ดำเนินการใดๆ โดยส่วนตัวหรือไม่ อย่างไรนั้น จึงไม่มีผลต่อคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนอกจากนี้การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมาย และโจทก์ฟ้องจำเลยอื่นๆ ซึ่งเป็นกรรมการของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าก็เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดช่องให้กระทำได้ จำเลยทั้งสิบห้าจึงไม่อาจกล่าวอ้างเหตุที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 12 ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมาปฏิเสธอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยดังกล่าวด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าประการที่สองมีว่า คำว่า “NETBURST” เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะหรือไม่ ซึ่งต้องวินิจฉัยว่า คำดังกล่าวเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรงตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 (2) หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ปรากฏตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสรุปได้ว่า ภาคส่วนคำว่า “NETBURST” หมายถึง เครือข่ายการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่จะแยกกระดาษออกมาเป็นแผ่นๆ เมื่อนำมาใช้กับสินค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียนนับว่าเป็นคำบรรยายถึงตัวสินค้าและไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาความหมายของคำดังกล่าว โดยแยกคำเป็นภาคส่วนแล้วนำความหมายของแต่ละภาคส่วนตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาเลือกมารวมกันเพื่อให้ความหมายของคำดังกล่าวโดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า เหตุใดนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงหยิบยกความหมายนั้นๆ มาใช้ในกรณีนี้จึงไม่ถูกต้อง เพราะทั้งคำว่า “NET” และคำว่า “BURST” ยังมีความหมายอื่นๆ อีกทั้งเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ การนำคำดังกล่าวมารวมกันจึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด ตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยไว้แล้ว ดังนั้น แม้จะใช้วิธีพิจารณาของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าว คำว่า “NETBURST” ก็อาจแปลเป็นอย่างอื่นได้เช่นกันนอกจากนี้ การพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่อาจรับจดทะเบียนได้หรือไม่นั้น ต้องมองภาพรวมของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเองด้วย มิได้จำกัดเฉพาะการพิจารณาจากคำอ่านและคำแปลโดยแยกออกเป็นพยางค์ตามหลักภาษาศาสตร์ ดังที่จำเลยทั้งสิบห้าอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสิบห้าไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า บุคคลในสาขาอาชีพต่างๆ ที่มีความรู้เกี่ยวกับภาษาดังกล่าวในระดับทั่วไปในสังคมเมื่อเห็นคำประดิษฐ์ดังกล่าวของโจทก์แล้ว จะเข้าใจในความหมายของคำๆ นี้เป็นเช่นเดียวกับที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไว้หรือไม่ ดังนั้น ย่อมยังถือไม่ได้ว่าคำว่า “NETBURST” นี้เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้า ตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง อันจะถือว่าเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า คำว่า “NETBURST” มีลักษณะเฉพาะจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบห้าในประเด็นอื่นอีกต่อไป เพราะไม่อาจทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
คำว่า NETBURST มีลักษณะบ่งเฉพาะ การที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้โจทก์แสดงการปฏิเสธตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 นายทะเบียนย่อมต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของโจทก์ต่อไปตามขั้นตอนต่างๆ ในการพิจารณาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน หาใช่กรณีที่โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เลยไม่ จึงไม่ชอบที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะพิพากษาให้มีการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้โจทก์แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า NETBURST ในส่วนของเครื่องหมายการค้าคำว่า “INTEL NETBURST” ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 422810 ไม่ชอบ ให้นายทะเบียนดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของโจทก์ดังกล่าวต่อไป ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคสี่ นอกจากที่แก้เฉพาะค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share