แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นบุคคลผู้พึ่งชำระค่าภาษีอากร ตามภาระหน้าที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานระหว่างโจทก์กับการรถไฟแห่งประเทศไทย และคดีของโจทก์มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้น เพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรที่จะพิจารณาพิพาทตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา 7 (4) (ตามคำวินิจฉัยประธานศาลฎีกาที่ ภษ.9/2545 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2545)
กิจการบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่โจทก์ได้รับสัมปทาน เป็นกิจการเพื่อรับส่งสินค้า พัสดุภัณฑ์และของอื่นๆ ซึ่งเป็นกิจการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะกระทำการต่างๆ ภายในขอบของวัตถุประสงค์ที่ให้ดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟ ตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย มาตรา 6 (2) และ 9 (7) โรงเรือนพิพาท ซึ่งเป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องสถานี เอ. ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งโจทก์ได้รับสัมปทานให้เป็นผู้ประกอบการ เป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของการรถไฟโดยตรงตามมาตรา 9 (2) แห่งพ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงไม่มีอำนาจเรียกเก็บภาษีดังกล่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย การประเมินของจำเลยและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากร ฯ มาตรา 17.
(ซ้ำฎีกาที่ 8174 – 8178/2548(ป))
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและแก้คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินที่ประเมินเกินไว้ 1,735,020.22 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานกิจการบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่สถานีเอ เลขที่ 33/4 หมู่ที่ 1 ถนนเจ้าคุณทหาร แขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนและในนามของผู้ให้สัมปทานตามเงื่อนไขที่กำหนดในสัญญาสัมปทานและได้รับมอบอำนาจจากการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ยื่นแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2544 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2544 เจ้าพนักงานเก็บภาษีสำนักงานเขตลาดกระบังของจำเลยที่ 1 แจ้งรายการประเมินไปให้การรถไฟแห่งประเทศไทยผู้รับประเมินทรัพย์สินทราบว่ากำหนดค่ารายปีจากค่าธรรมเนียมสัมปทานบวกด้วยค่าประกันภัยคิดเป็นค่าภาษี 5,864,820.22 บาท การรถไฟแห่งประเทศไทยได้รับแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2544 โจทก์ทราบการประเมินและชำระค่าภาษีทั้งสินแก่จำเลยที่ 1 ผ่านการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว แต่เห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง จึงยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินนั้นใหม่เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2544 โดยอ้างว่าเพิ่งทราบการประเมินจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยยื่นคำร้องภายหลังระยะเวลา 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน จึงหมดสิทธิที่จะให้พิจารณาการประเมินใหม่ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลภาษีอากรกลางหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีอากรตามภาระหน้าที่ที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานระหว่างโจทก์กับการรถไฟแห่งประเทศไทย คดีของโจทก์จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามข้อผูกพันซึ่งได้ทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่การจัดเก็บภาษีอากร และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการประเมินกับเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (4) มิใช่มาตรา 7 (1) โจทก์จึงมีสิทธินำคดีมาสู่ศาลภาษีอากร (ตามคำวินิจฉัยประธานศาลฎีกาที่ ภษ.9/2545 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2545)
ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยสถานภาพผู้รับประเมินคือการรถไฟแห่งประเทศไทยเสียก่อนเมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว เห็นว่า เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้เรียกเก็บค่าภาษีจากทรัพย์สินของราษฎรซึ่งเป็นโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นๆ กับที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ในมาตรา 9 ก็บัญญัติให้ยกเว้นทรัพย์สินจากบทบัญญัติดังกล่าวคือ (2) ทรัพย์สินของรัฐบาลที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลหรือสาธารณะ และทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการการรถไฟโดยตรง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ากิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่โจทก์ได้รับสัมปทานเป็นกิจการเพื่อการรับขนส่งสินค้า พัสดุภัณฑ์และของอื่นๆ ซึ่งเป็นกิจการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจที่จะกระทำการต่างๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ที่ให้ดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟตามความในพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 6 (2) และ 9 (7) โรงเรือนที่พิพาทซึ่งเป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องสถานี เอ. ของการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งโจทก์ได้รับสัมปทานให้เป็นผู้ประกอบการนั้น เป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของการรถไฟโดยตรงตามมาตรา 9 (2) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนดังกล่าว พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีดังกล่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย การประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวข้างต้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความที่เกี่ยวข้องยกขึ้นเป็นข้ออ้าง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 อย่างไรก็ตามโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่ตนชำระแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งหมด ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ได้เท่าจำนวนตามคำฟ้องเท่านั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร ส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการคืนค่าภาษีแก่โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่พิจารณาคำชี้ขาดในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว อุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีจำนวน 1,735,020.22 บาท แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่ฟังคำพิพากษานี้ หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกคำขออื่นของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.