แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการวิจัยต่างประเทศ มีหน้าที่ในการทำรายงานวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาคเผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าและประชาชน ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ จำเลยกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดรายชื่อหลักทรัพย์ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อขาย และหลักทรัพย์ที่ห้ามทำการซื้อขาย โจทก์ได้จัดทำรายงานการวิจัยหลักทรัพย์ของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 ระบุว่าเป็นหลักทรัพย์ที่แนะนำให้ซื้อ และโจทก์ซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวรวม 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543 จำนวน 5,000 หุ้น และวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 จำนวน 10,000 หุ้น โดยในการซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวโจทก์ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ได้ออกรายงานการวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เป็นหลักทรัพย์ที่ต้องระมัดระวังในการซื้อขายในระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2543 ส่วนเวลาก่อนหน้านี้โจทก์มิได้ใส่ชื่อหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ที่ต้องระมัดระวังในการซื้อขาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ซื้อหลักทรัพย์ในขณะที่โจทก์ทราบข้อมูลของหลักทรัพย์ดังกล่าวในวันที่โจทก์เข้าพบผู้บริหารของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 หากในระหว่างจัดทำรายงานโจทก์แจ้งรายชื่อหลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในบัญชีรายชื่อหลักทรัพย์ที่ต้องระมัดระวัง ผู้บังคับบัญชาก็จะไม่อนุมัติให้โจทก์ซื้อเนื่องจากผิดระเบียบซึ่งจำเลยได้กำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ในฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ต่างประเทศและฝ่ายบริหารหลักทรัพย์ ซื้อหลักทรัพย์เป็นเวลา 5 วัน นับแต่วันที่มีการเผยแพร่รายงานผลการวิจัยหลักทรัพย์เพื่อควบคุมไม่ให้การซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือมีการใช้ข้อมูลภายในเพื่อเอาเปรียบลูกค้า ดังนี้ โจทก์ซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ก่อนวันที่มีการเผยแพร่รายงานการวิจัยโดยที่โจทก์รับทราบข้อมูลภายในแล้วอาศัยประโยชน์จากข้อมูลที่ได้นั้นไปซื้อหลักทรัพย์ไว้ก่อนลูกค้าและจึงจัดทำรายงานการวิจัยเชิญชวนลูกค้าให้ซื้อหลักทรัพย์นั้น เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่เชื่อถือในความซื่อสัตย์ของโจทก์ ทั้งการกระทำดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่นายจ้างได้ การเลิกจ้างโจทก์จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
โจทก์ถูกเลิกจ้างวันที่ 12 มีนาคม 2544 ตามสัญญาจ้างแรงงานได้กำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินโบนัสว่า การจ่ายเงินโบนัสโจทก์จะต้องยังคงอยู่ภายใต้การจ้างงานของจำเลย หากโจทก์ลาออกหรือถูกเลิกจ้างเพราะเหตุทำความผิดก่อนวันจ่ายเงินจะไม่มีการจ่ายเงินโบนัส เว้นแต่เป็นเรื่องการปรับโครงสร้างบริษัท ควบรวมกิจการหรือครอบงำกิจการบริษัท เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จากการที่โจทก์ปฏิบัติงานและรับทราบข้อมูลภายในแล้วอาศัยประโยชน์จากข้อมูลนั้นซื้อหลักทรัพย์ไว้ก่อนลูกค้าแล้วจึงจัดทำรายงานการวิจัย เชิญชวนให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์นั้น จึงเป็นกรณีที่เกิดเหตุการณ์ในความรับผิดชอบของโจทก์ที่กระทบต่อชื่อเสียงของโจทก์และจำเลย เมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า เงินโบนัสประจำปี 2543 ถึงปี 2544 กำหนดจ่ายพร้อมเงินเดือนในวันที่ 27 พฤษภาคม 2544 โจทก์ถูกเลิกจ้างวันที่ 12 มีนาคม 2544 โดยเหตุตามที่กำหนดในสัญญาจ้างแรงงาน ก่อนวันจ่ายเงินโบนัส โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส สำหรับการทำงานปี 2543 ถึงปี 2544
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยเป็นเงิน 87,500 ดอลลาร์สหรัฐ สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเงิน 87,500 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นเงิน 14,580 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของค่าชดเชย นับแต่วันที่ 12 มีนาคม 2544 และอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 18 มิถุนายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากชำระเป็นเงินไทยให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินแต่ไม่เกินกว่า 43.94 บาท ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐเท่าที่โจทก์ขอ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยในตำแหน่งผู้จัดการวิจัยต่างประเทศ มีหน้าที่ในการทำรายงานวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ทั้งในประเทศและในระดับภูมิภาคออกเผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้าและประชาชน ในการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ จำเลยได้กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดรายชื่อหลักทรัพย์ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายและรายชื่อหลักทรัพย์ที่ห้ามทำการซื้อขาย จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ จำเลยได้รับแจ้งว่าในปี 2543 โจทก์ได้จัดทำรายงานวิจัยหลักทรัพย์ของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2543 และโจทก์ซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวรวม 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2543 จำนวน 5,000 หุ้น และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 จำนวน 10,000 หุ้น โดยในการซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวโจทก์ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาให้ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ แต่ในการซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวนี้ โจทก์ได้ออกรายงานวิจัยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ซึ่งตามบัญชีรายชื่อหลักทรัพย์ที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการซื้อขาย ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ใส่ชื่อหลักทรัพย์ของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) เป็นหลักทรัพย์ที่ต้องระมัดระวังในการซื้อขายในระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2543 ส่วนเวลาก่อนหน้านี้โจทก์มิได้ใส่ชื่อหลักทรัพย์ของบริษัทดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ที่ต้องระมัดระวังในการซื้อขาย จำเลยเห็นว่าโจทก์ซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวในขณะที่โจทก์ทราบข้อมูลของหลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว และจากวันที่โจทก์ไปพบผู้บริหารของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ถึงวันที่โจทก์จัดทำรายงาน ในระหว่างจัดทำรายงานโจทก์ไม่ได้แจ้งรายชื่อหลักทรัพย์ดังกล่าวอยู่ในบัญชีรายชื่อหลักทรัพย์ที่ต้องระมัดระวังในการซื้อขายซึ่งหากโจทก์แจ้ง ผู้บังคับบัญชาก็จะไม่อนุมัติเนื่องจากผิดระเบียบ จำเลยจึงถือว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบของจำเลย ซึ่งจำเลยได้กำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ในฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ต่างประเทศและฝ่ายบริการหลักทรัพย์สถาบันซื้อหลักทรัพย์ Restricted List นี้ เป็นเวลา 5 วัน นับแต่วันที่มีการเผยแพร่รายงานผลการวิจัยหลักทรัพย์นั้นเพื่อควบคุมไม่ให้ซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานเป็นการเอาเปรียบลูกค้าหรือมีการใช้ข้อมูลภายในเพื่อเอาเปรียบลูกค้า ดังนั้น โจทก์ซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ก่อนวันที่มีการเผยแพร่รายงานการวิจัยดังกล่าว แล้วจึงจัดทำรายงานการวิจัยเชิญชวนให้ลูกค้าซื้อหลักทรัพย์นั้น เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่เชื่อถือในความซื่อสัตย์ของโจทก์ ทั้งการกระทำดังกล่าวของโจทก์อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่นายจ้างได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่าการเลิกจ้างโจทก์ไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ประการนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสสำหรับการทำงานปี 2543 ถึงปี 2544 หรือไม่ เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 เป็นสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลย โดยสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย ล.2 เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ้างบางประการให้แตกต่างไปจากสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย ล.1 แต่ในส่วนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงยังคงเป็นไปตามข้อตกลงและเงื่อนไขเดิม ซึ่งตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย ล.1 ข้อ 7 ได้ระบุเหตุที่โจทก์อาจถูกเลิกจ้างได้หลายประการรวมทั้ง การที่สามารถพิสูจน์ได้โดยมีเหตุผลสมควรเป็นที่พอใจแก่บริษัทจำเลยว่าโจทก์ทุจริตหรือขาดความซื่อสัตย์ หรือที่เป็นปัญหาต่อชื่อเสียงของโจทก์ หรือมีเหตุการณ์ใด ๆ ภายใต้การควบคุมหรือรับผิดชอบของโจทก์เกิดขึ้นซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงของจำเลย ซึ่งตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย ล.2 ได้กำหนดเงื่อนไขของการจ่ายเงินโบนัสในเวลาที่จ่ายเงินโบนัสนั้นโจทก์จะต้องยังคงอยู่ภายใต้การจ้างงานของจำเลย หากโจทก์ลาออกหรือถูกเลิกจ้างเพราะเหตุทำความผิดก่อนวันจ่ายเงินจะไม่มีการจ่ายเงินโบนัสจากการสิ้นสุดการทำงานดังกล่าวเว้นแต่ในกรณีเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างบริษัท ควบรวมกิจการหรือครอบงำกิจการบริษัทหรือในกรณีที่โจทก์ถูกเลิกจ้างโดยบริษัทจากสาเหตุอื่นนอกจากเหตุดังที่กำหนดจำเลยจะจ่ายเงินโบนัสที่รับรองการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ ดังนั้น เมื่อโจทก์ถูกเลิกจ้างวันที่ 12 มีนาคม 2544 โดยเหตุตามที่กำหนดในสัญญาจ้างแรงงาน เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 7 ก่อนวันจ่ายเงินโบนัส ทั้งการเลิกจ้างดังกล่าวมิได้เกิดจากการปรับโครงสร้างบริษัท ควบรวมกิจการหรือครอบงำบริษัทหรือเหตุอื่นทำนองเดียวกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสสำหรับการทำงานปี 2543 ถึงปี 2544 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ประการสุดท้ายนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.