คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3381/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พินัยกรรมข้อ 2 ที่มีข้อกำหนดยกที่ดินให้แก่ผู้ร้องโดยนำที่ดินดังกล่าวไปจัดการอย่างใด ๆ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์และนำผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไปดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิ เป็นการได้กำหนดยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้รับพินัยกรรมแล้ว เพียงแต่ให้ผู้รับพินัยกรรมนำผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินไปก่อตั้งมูลนิธิซึ่งเป็นกรณีที่จะดำเนินการต่อไปหลังจากทรัพย์มรดกตกเป็นของผู้รับพินัยกรรม และมรดกได้ก่อเกิดผลประโยชน์แล้ว ข้อกำหนดตามพินัยกรรมข้อนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (3)
พินัยกรรมข้อ 3 ที่มีข้อกำหนดว่า เงินสดซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารทั้งหมดยกให้ ส. และผู้ร้องเป็นผู้ดูแลเพื่อทำตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้เป็นการกำหนดให้ผู้ร้องและ ส. เป็นเพียงผู้ดูแลเท่านั้น มิได้ยกกรรมสิทธิ์เงินสดให้แก่ผู้ร้องและ ส. และไม่ได้กำหนดโดยชัดแจ้งว่ายกเงินสดดังกล่าวให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใด จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1706 (2) (3)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายเสริม เภกะนันท์ กับนางสะอาด เภกะนันทน์ ซึ่งเป็นพี่ชายของบิดาผู้ร้องได้สมรสกับนางพอพิศ เภกะนันท์ ระหว่างนางพอพิศอยู่กินกับนายชัยธวัชได้รับนางสาวอารีย์รัตน์ เภกะนันท์ เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมานายชัยธวัชและนางสาวอารีย์รัตน์ได้ถึงแก่กรรม ผู้ร้องและครอบครัวช่วยกันดูแลอุปการะเลี้ยงดูนางพอพิศตลอดมา ครั้นวันที่ 5 กรกฎาคม 2540 นางพอพิศถึงแก่กรรมด้วยหัวใจวาย ก่อนถึงแก่กรรมนางพอพิศทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 3404 และ 3405 ให้แก่ผู้ร้อง และนายชาตรี เภกะนันทน์ ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10105 และ 12440 ให้แก่ผู้ร้องเพื่อไปจัดการก่อให้เกิดผลประโยชน์และนำเอาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไปก่อตั้งมูลนิธิชัยธวัช เภกะนันทน์ และพอพิศ (สิงหเสนี) เภกะนันทน์ และยกเงินสดที่ฝากธนาคารให้นางสะอาดและผู้ร้องเป็นผู้ดูแลเพื่อทำตามความประสงค์ที่ระบุไว้และสั่งเสียด้วยวาจา หลังจากนางพอพิศถึงแก่กรรมผู้ร้องไปติดต่อเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ธนาคาร แต่เจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าหน้าที่ธนาคารไม่ดำเนินการให้ แต่ผู้ร้องมาร้องขอต่อศาลก่อน ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งว่า นายชุบ สิงหเสนี บิดาของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางพอพิศ เภกะนันทน์ ปัจจุบันนี้นายชุบถึงแก่กรรมไปแล้ว นางพอพิศมีฐานะร่ำรวย มีบ้าน และคนใช้ประจำตัว ผู้ร้องและครอบครัวไม่ได้ช่วยอุปการะเลี้ยงดูนางพอพิศ ผู้คัดค้านที่ 1 และญาติไปมาหาสู่และดูแลอุปการะเลี้ยงดูนางพอพิศจนถึงแก่กรรม ขณะถึงแก่กรรมนางพอพิศมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน เงินฝากในธนาคาร เพชร ทองรูปพรรณหลายรายการ ทรัพย์สินภายในบ้าน และทรัพย์สินอื่นจำนวนมาก ผู้ร้องปิดบังทายาทของเจ้ามรดกและยื่นคำร้องต่อศาลโดยระบุว่าทรัพย์มรดกมีเพียงที่ดิน 4 โฉนด และเงินฝากในธนาคาร 1 แห่ง ทั้งที่นางพอพิศมีมากกว่านั้น กับไม่แจ้งให้ทายาทของเจ้ามรดกทราบ ก่อนปี 2539 นางพอพิศป่วยและไม่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่เคยทำพินัยกรรมแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างมีการกรอกข้อความลงในแบบฟอร์มพินัยกรรมซึ่งมีลายมือชื่อของนางพอพิศ โดยนางพอพิศไม่ทราบและไม่ให้ความยินยอม และลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อของนางพอพิศ พินัยกรรมดังกล่าวมีการตกเติมโดยนางพอพิศไม่ลงลายมือชื่อกำกับไว้ จึงเป็นพินัยกรรมปลอมและตกเป็นโมฆะ ที่พินัยกรรมกำหนดให้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10105 และ 12440 ให้แก่ผู้ร้องเพื่อไปจัดการก่อให้เกิดประโยชน์และนำเอาผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไปก่อตั้งมูลนิธิชัยธวัช เภกะนันทน์ และพอพิศ (สิงหเสนี) เภกะนันท์ นั้น ไม่ได้สั่งให้จัดสรรทรัพย์สินเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้กำหนดวัตถุประสงค์และข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินของมูลนิธิ ย่อมไม่อาจจัดตั้งมูลนิธิขึ้นได้ จึงไม่มีผลบังคับใช้ ที่ดิน 2 แปลงดังกล่าวตกได้แก่ทายาทโดยธรรม และที่พินัยกรรมกำหนดให้ยกเงินสดซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารให้นางสะอาดและผู้ร้องเป็นผู้ดูแลเพื่อทำตามความประสงค์ที่ระบุไว้และสั่งเสียด้วยวาจานั้น ไม่ได้ระบุชัดว่าผู้ใดเป็นผู้รับพินัยกรรม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ จึงไม่สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกคดีนี้ ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายชุบและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องขอ และให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งว่า นายชวน สิงหเสนี บิดาของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางพอพิศ เภกะนันทน์ ผู้ตาย ปัจจุบันนายชวนถึงแก่กรรมไปแล้ว เท่าที่ผู้คัดค้านที่ 2 ทราบนอกจากนางพอพิศมีที่ดิน (ตามพินัยกรรม) และเงินฝากที่ธนาคารเพียงบัญชีเดียวแล้ว ยังมีทรัพย์มรดกอื่น ๆ อีกมากมาย นางพอพิศไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง นายชาตรี เภกะนันทน์ และนางสะอาด เภกะนันทน์ แต่อย่างใด ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมมิใช่ลายมือชื่อของนางพอพิศ และการแก้ไขข้อความในพินัยกรรมก็ไม่มีพยานลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของนางพอพิศที่พินัยกรรมกำหนดให้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10105 และ 12440 ให้แก่ผู้ร้องนำไปดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิชัยธวัช เภกะนันทน์ และพอพิศ (สิงหเสนี) เภกะนันทน์ นั้น มิได้ระบุให้ทรัพย์สินแก่มูลนิธิที่ก่อตั้งได้รับอำนาจด้วย มิได้สั่งให้จัดสรรทรัพย์สินไว้โดยตรงเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ได้ระบุวัตถุประสงค์และข้อกำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินของมูลนิธิย่อมไม่อาจจัดตั้งมูลนิธิขึ้นได้จึงไม่มีผลบังคับใช้และที่พินัยกรรมกำหนดให้ยกเงินสดซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารทั้งหมดให้ผู้ร้องและนางสะอาดเป็นผู้ดูแลเพื่อทำตามความประสงค์ที่ระบุไว้และสั่งเสียด้วยวาจานั้น ไม่ได้ระบุตัวบุคคลผู้รับพินัยกรรม ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นโมฆะ ผู้ร้องไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกของนางพอพิศและมีความประพฤติไม่น่าไว้วางใจเนื่องจากผู้ร้องเคยเป็นพนักงานของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แต่ฝ่าฝืนวินัยของบริษัท ถูกไล่ออกจากงานและถูกดำเนินคดีอาญา จึงไม่สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกคดีนี้ ผู้คัดค้านที่ 2 มีสิทธิรับมรดกแทนที่นายชวนและไม่เป็นบุคคลที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องและให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งว่า นายเฉลิม สิงหเสนี บิดาของผู้คัดค้านที่ 3 เป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางพอพิศ เภกะนันท์ ผู้ตาย ปัจจุบัน ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาลของนางสาวกุณฑลี สิงหเสนี ตามสำเนาคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 746/2541 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2541 พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอม เพราะนางพอพิศทำพินัยกรรมไว้เพียงฉบับเดียว เป็นพินัยกรรมที่เขียนเองเมื่อปี 2539 นางพอพิศทำพินัยกรรมฉบับที่ผู้ร้องอ้างโดยสำคัญผิดและถูกฉ้อฉล เพราะขณะทำพินัยกรรมนางพอพิศไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ผู้ร้องไม่ใช่ทายาทโดยธรรมของนางพอพิศ ไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทกองมรดกของนางพอพิศ และเป็นผู้มีความประพฤติไม่เหมาะสมหลายประการ จึงไม่สมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกนี้ นางสาวกุณฑลีผู้อนุบาลของผู้คัดค้านที่ 3 ไม่เป็นบุคคลที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องขอ และให้ศาลมีคำสั่งตั้งนางสาวกุณฑลี ผู้อนุบาลของผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศผู้ตาย
ผู้ร้องให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต่างมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชุบ สิงหเสนี และนายชวน สิงหเสนี ตามลำดับ แม้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนางพอพิศ เภกะนันทน์ ผู้ตาย แต่มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนางพอพิศ นางพอพิศแสดงเจตนาก่อนถึงแก่ความตายว่าไม่ต้องการให้ทายาทในตระกูล “สิงหเสนี” มีสิทธิในทรัพย์มรดก จึงทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้อง นางสะอาด เภกะนันทน์ และนายชาตรี เภกะนันทน์ ดังนี้ผู้คัดค้านทั้งสามไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมาคัดค้านผู้ร้องและขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดก อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 3 และผู้อนุบาลก็ทราบว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอในคดีนี้ต่อศาลและเข้ามาฟังการพิจารณาโดยตลอด ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านเกินกว่าหนึ่งปีจึงขาดอายุความ ขณะนางพอพิศทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ขณะทำพินัยกรรมมีทนายความให้คำปรึกษาและพยานที่ลงลายมือชื่อก็รู้เห็น พินัยกรรมตามคำร้องเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ร้องเปิดพินัยกรรมต่อหน้าทนายความและพยานหลายคน กับแจ้งให้ทายาทโดยธรรมมาดูและตรวจสอบในวันเปิดและหลังเปิดพินัยกรรม ผู้ร้องไม่เป็นปรปักษ์ต่อทายาทในกองมรดก ขอให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสาม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสาวกัณหา เภาะนันทน์ ผู้ร้อง เป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศ เภกะนันทน์ ผู้วายชนม์ และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายต่อไป กับให้ผู้คัดค้านทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสามให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นางสาวกัณหา เภกะนันทน์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศ เภกะนันทน์ ผู้ตายในส่วนของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโฉนดเลขที่ 3404 และ 3405 ตำบลมักกะสัน (ประแจจีน) อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร กับที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโฉนดเลขที่ 10105 และ 12440 ตำบลคลองตัน (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร แต่ในส่วนของทรัพย์มรดกซึ่งเป็นเงินฝากไว้ที่ธนาคารกับทรัพย์มรดกอื่น (หากมี) ให้ผู้ร้องกับนายดิลก สิงหเสนี ผู้คัดค้านที่ 1 นางยุพดี สิงหพรรค ผู้คัดค้านที่ 2 และนางสาวกุณฑลี สิงหเสนี ผู้อนุบาลของนายเฉลิม สิงหเสนี ผู้คัดค้านที่ 3 ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ฎีกาโต้แย้งฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนายเสริม เภกะนันทน์ กับนางสะอาด เภกะนันทน์ นางพอพิศ เภกะนันทน์ เจ้ามรดกเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชัยธวัช เภกะนันทน์ บิดาของผู้ร้องเป็นน้องของนายชัยธวัช ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรนายชุบ สิงหเสนี ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของชวน สิงหเสนี ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นคนไร้ความสามารถอยู่ในความอนุบาลของนางสาวกุณฑลี สิงหเสนี ทั้งนายชวน นายชุบและผู้คัดค้านที่ 3 ต่างเป็นน้องร่วมบิดามารดาของเจ้ามรดก เป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกเพราะเจ้ามรดกไม่มีบุตร นายชุบและนายชวนถึงแก่ความตายแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้สืบสันดานรับมรดกแทนที่
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่าพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร. 5 เป็นพินัยกรรมปลอมและไม่ถูกต้องตามแบบหรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่าเจ้ามรดกลงลายมือชื่อในพินัยกรรมไว้ก่อนแล้วผู้ร้องกับทนายความไปกรอกข้อความซึ่งไม่ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของเจ้ามรดกเป็นการฉ้อฉล และเจ้ามรดกไม่ได้สวมแว่นตาจึงไม่ได้อ่านข้อความในพินัยกรรม อีกทั้งไม่นำนางอัมพวัน วงศ์ลาภพานิช พยานในพินัยกรรมมาสืบว่าได้ลงลายมือชื่อจริงหรือไม่และลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้ามรดกหรือไม่ พินัยกรรมจึงไม่สมบูรณ์ เห็นว่า ตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามต่างไม่คัดค้านลายมือชื่อของเจ้ามรดกในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร. 5 ว่าไม่ถูกต้องและฝ่ายผู้ร้องมีตัวผู้ร้อง นายสมชายผู้ทำพินัยกรรมและว่าที่ร้อยโทอนิวรรตน์เบิกความว่า เจ้ามรดกมีความประสงค์ที่จะทำพินัยกรรมในวันที่ 23 ตุลาคม 2539 จึงได้มีการทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร. 5 ขึ้นที่บ้านผู้ร้อง โดยนายสมชายผู้จัดทำพินัยกรรมได้พูดคุยกับเจ้ามรดกและบันทึกเทปการสนทนาไว้ตามเทปบันทึกเสียงวัตถุพยานหมาย ร. 3 และคำถอดเทปเอกสารหมาย ร. 4 นอกจากนี้เจ้ามรดกยังได้นำร่างพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร. 2 มาให้นายสมชายดู นายสมชายพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร. 5 แล้วอ่านข้อความตามพินัยกรรมให้ทุกคนฟัง เจ้ามรดกได้อ่านข้อความในพินัยกรรมด้วยแล้วจึงลงลายมือชื่อแล้วส่งพินัยกรรมให้ว่าที่ร้อยโทอนิวรรตน์และนางอัมพวันลงลายมือชื่อในฐานะพยาน แต่ว่าที่ร้อยโทอนิวรรตน์อ่านพินัยกรรมแล้วพบว่าหน่วยเนื้อที่ของที่ดินในพินัยกรรมไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในโฉนด จึงมีการแก้ไขแจ้งให้เจ้ามรดกลงลายมือชื่อกำกับจุดที่แก้ไขแล้วว่าที่ร้อยโทอนิวรรตน์กับนางอัมพวันจึงลงลายมือชื่อเป็นพยาน นอกจากนี้พยานทั้งสามยังเบิกความว่าในวันทำพินัยกรรมนั้นได้มีการพูดคุยกับเจ้ามรดกด้วย เจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เจ้ามรดกสามารถอ่านพินัยกรรมได้โดยไม่ต้องใช้แว่นตาซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายแพทย์เสถียร ภู่ประเสริฐ พยานผู้คัดค้านที่ 1 ที่เบิกความว่าเจ้ามรดกเป็นคนไข้ของพยานมารักษาด้วยโรคเกี่ยวกับไขข้ออักเสบหรือโรคเกาต์และความดันโลหิตสูง เท่าที่พยานทราบประวัติการรักษาเจ้ามรดกไม่เคยเอกซเรย์สมอง แต่เคยผ่าตัดต้อกระจก เปลี่ยนเลนส์ตาทั้งสองข้างที่โรงพยาบาลอื่นในวันที่ 6 มิถุนายน 2535 การลอกตาแล้วใส่เลนส์เทียมเข้าไปในดวงตาทำให้มองเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้นายแพทย์เสถียรยังมีหนังสือลงวันที่ 20 ตุลาคม 2543 แจ้งต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นยืนยันว่าเจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์โดยตลอด สายตาไม่บอด สามารถอ่านหนังสือได้ และได้เบิกความตอบคำถามค้านของทนายผู้ร้องว่า ครั้งสุดท้ายพบเจ้ามรดกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2540 เจ้ามรดกมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เพราะสามารถบอกอาการประจำตัวให้พยานทราบได้ นอกจากนี้ร่างพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร. 2 ซึ่งเจ้ามรดกร่างขึ้นด้วยลายมือของเจ้ามรดกเองแม้ว่าข้อความจะไม่ครบถ้วนตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร. 5 ทั้งหมด แต่ก็ใกล้เคียงกัน เทปบันทึกเสียงวัตถุพยานหมาย ร. 3 พร้อมคำถอดเทปเอกสารหมาย ร. 4 สามารถฟังได้รู้เรื่องเป็นเรื่องเป็นราว พยานหลักฐานตามที่ผู้ร้องนำสืบดังกล่าวมีน้ำหนักฟังได้ว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร. 5 ถูกต้องตามแบบไม่ใช่พินัยกรรมปลอม และเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมเพราะถูกฉ้อฉล ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร. 5 ไม่ใช่พินัยกรรมปลอมและเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ร. 5 เพราะถูกฉ้อฉล ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้คัดค้านทั้งสามในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามข้อต่อไปว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร. 5 ข้อ 2 ที่มีข้อกำหนดยกที่ดินโฉนดเลขที่ 10105 และ 12440 ให้แก่ผู้ร้องโดยนำที่ดินดังกล่าวไปจัดการอย่างใด ๆ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์และนำผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นไปดำเนินการก่อตั้งมูลนิธิชัยธวัช เภกะนันทน์ และพอพิศ (สิงหเสนี) เภกะนันทน์ เป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ข้อกำหนดตามพินัยกรรมข้อ 2 ดังกล่าวได้กำหนดยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้รับพินัยกรรมแล้ว เพียงแต่ให้ผู้รับพินัยกรรมนำผลประโยชน์ที่ได้จากที่ดินดังกล่าวไปก่อตั้งมูลนิธิซึ่งเป็นกรณีที่ผู้รับมรดกตามพินัยกรรมจะดำเนินการต่อไปหลังจากทรัพย์มรดกตกเป็นของผู้รับพินัยกรรม และมรดกได้ก่อเกิดผลประโยชน์แล้ว ข้อกำหนดตามพินัยกรรมข้อนี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706 (3) ฎีกาผู้คัดค้านทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร. 5 ข้อ 3 ที่มีข้อกำหนดว่าเงินสดซึ่งฝากไว้ที่ธนาคารทั้งหมดยกให้นางสะอาด เภกะนันทน์ และผู้ร้องเป็นผู้ดูแลเพื่อทำตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้และสั่งเสียด้วยวาจาด้วยความเชื่อถือในความซื่อสัตย์สุจริตเป็นโมฆะหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่าถ้อยคำตามข้อกำหนดในข้อ 3 ดังกล่าวนี้เป็นการระบุไว้ชัดแจ้งว่ายกเงินสดที่ฝากธนาคารทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องและนางสะอาดแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความตามข้อกำหนดในข้อ 3 นั้นระบุว่าเงินสดยกให้นางสะอาดและผู้ร้องเป็นผู้ดูแล จากข้อความดังกล่าวกำหนดให้ผู้ร้องและนางสะอาดเป็นเพียงผู้ดูแลเท่านั้น หาได้ยกกรรมสิทธิ์เงินสดดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องและนางสะอาดไม่ และไม่ได้กำหนดโดยชัดแจ้งว่ายกเงินสดดังกล่าวให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดจำนวนมากน้อยเพียงใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร. 5 ข้อ 3 จึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1706 (2) (3) ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องและฎีกาผู้คัดค้านทั้งสามว่า สมควรตั้งผู้ร้องหรือผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือไม่ ที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่าผู้ร้องถูกไล่ออกจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กราบทูลเท็จต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นก็หาใช่เรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริตต่อทรัพย์สินของเจ้ามรดก ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกาว่าผู้ร้องยักย้ายถ่ายเททรัพย์มรดกก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีหลักฐานมานำสืบว่าผู้ร้องกระทำการดังกล่าว เมื่อพินัยกรรมเอกสารหมาย ร. 5 และข้อกำหนดในข้อ 1 และข้อ 2 ไม่ตกเป็นโมฆะ ผู้ร้องจึงเป็นผู้รับพินัยกรรมทรัพย์มรดกในข้อกำหนดดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์มรดกส่วนนี้แต่เพียงฝ่ายเดียว จึงชอบแล้ว ส่วนข้อกำหนดในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร. 5 ข้อ 3 ตกเป็นโมฆะ ทรัพย์มรดกส่วนนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1699 ผู้ร้องมิได้เป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก จึงสมควรตั้งผู้คัดค้านทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกทรัพย์มรดกซึ่งเป็นเงินฝากไว้ที่ธนาคารกับทรัพย์มรดกอื่น (หากมี) ฝ่ายเดียว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสามร่วมเป็นผู้จัดการมรดกในส่วนนี้ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านทั้งสามร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของนางพอพิศ เภกะนันทน์ ผู้ตายในส่วนของทรัพย์มรดกซึ่งเป็นเงินฝากไว้ที่ธนาคารกับทรัพย์มรดกอื่น (หากมี) แต่เพียงฝ่ายเดียว นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share