คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยกู้ยืมเงิน 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 180,000 บาท โดยสัญญากู้ยืมเงินแต่ละฉบับตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน แต่ในสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับระบุว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามกฎหมาย ดังนี้ เมื่อสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้ง ย่อมต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กู้ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวว่าได้มีการตกลงกันด้วยวาจาให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จำนวน 155,505 บาท จึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแต่ละครั้งไปชำระดอกเบี้ยที่คงค้าง ส่วนที่เหลือจึงนำไปหักชำระต้นเงินที่ค้างชำระแต่ละคราวไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบให้ได้ความชัดเจนว่าการชำระเงินดังกล่าวเป็นการชำระหนี้สินรายใด เมื่อหนี้สินจำนวน 150,000 บาท และจำนวน 30,000 บาท ไม่ได้กำหนระยะเวลาชำระหนี้ไว้ แต่หนี้สินรายแรกมีผู้ค้ำประกัน 2 ราย ส่วนหนี้สินรายหลังมีผู้ค้ำประกันเพียงรายเดียว หนี้สินรายหลังจึงเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้มีประกันน้อยที่สุด จึงต้องถือว่าหนี้รายหลังเป็นอันปลดเปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 150,000 บาท จากโจทก์ โดยยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน จำเลยที่ 1 รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วน มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 30,000 บาท จากโจทก์ โดยยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน จำเลยที่ 1 รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วน มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน หลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 1 ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จนถึงเดือนตุลาคม 2541 นับแต่เดือนพฤศจิกายน 2541 เป็นต้นมา จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับแก่โจทก์ โจทก์จึงทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินคืน แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระแทน แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 187,906.25 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 150,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 37,581.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 และวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ 2 ครั้ง เป็นเงิน 180,000 บาท ตามฟ้องจริง โดยโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี การชำระต้นเงินและดอกเบี้ยจำเลยที่ 1 ได้มอบสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ บัญชีเลขที่ 412-2-68359-6 ให้แก่โจทก์ยึดถือไว้ และจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้โจทก์เป็นผู้เบิกเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเพื่อชำระต้นเงิน และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุก ๆ สิ้นเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ครบถ้วน หลังจากทำสัญญาโจทก์ได้เบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวเดือนละประมาณ 7,000 ถึง 9,000 บาท เพื่อชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้เบิกถอนเงินโบนัสของจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 24,235 บาท โจทก์ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 เรื่อยมา จนกระทั่งเดือนตุลาคม 2541 ปรากฏว่าโจทก์ได้เบิกถอนเงินไปจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แล้ว จำนวน 173,835 บาท เมื่อคิดหักกับค่าดอกเบี้ยตามกฎหมายอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 180,000 บาท นับแต่วันทำสัญญาจนถึงเดือนตุลาคม 2541 จำนวน 19,125 บาท แล้วคงเป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระต้นเงินคืนให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 154,710 บาท จำเลยที่ 1 จึงค้างชำระต้นเงินเพียง 25,290 บาท กับดอกเบี้ยตามกฎหมายเท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินทั้งหมดจากจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 187,906.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 150,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินอีกจำนวน 37,581.25 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 150,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 7 และ 27 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 150,000 บาท และ 30,000 บาท ตามลำดับ โดยสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 150,000 บาท มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ. 1 และ จ. 2 ส่วนสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 30,000 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ. 3 สัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับระบุว่า จำเลยที่ 1 ยินยอมชำระดอกเบี้ยตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้จากโจทก์ครบถ้วนแล้ว และจำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ มอบให้โจทก์ยึดถือไว้กับมอบอำนาจให้โจทก์เบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทุกเดือนเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว โจทก์ได้เบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวทุกเดือน นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2541 ตามสำเนาใบถอนเงินเอกสารหมาย ล. 1 และโจทก์ได้ถอนเงินโบนัสประจำปี 2540 ของจำเลยที่ 1 ด้วยตามเอกสารหมาย ล. 2 โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2545 แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธินำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ยืมเงินที่ระบุให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามกฎหมายเป็นว่าได้ตกลงกันให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนได้หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 180,000 บาท โดยสัญญากู้ยืมเงินแต่ละฉบับตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน แต่โจทก์ได้แนบสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับระบุว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามกฎหมาย และจำเลยที่ 1 ให้การยอมรับว่าได้กู้ยืมเงินจากโจทก์จริงโดยตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดังนี้ เมื่อสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้ง ย่อมต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กู้ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 อันสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ไว้ โจทก์จึงต้องห้ามมิให้นำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวว่าได้มีการตกลงกันด้วยวาจาให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) กรณีหาใช่เป็นการนำสืบถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่โจทก์ฟ้องไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับฟังพยานบุคคลในกรณีดังกล่าวจึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาว่า จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า จำเลยที่ 1 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่าจำเลยที่ 1 ได้ยอมให้โจทก์เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาแก้งคร้อ และโจทก์ได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวแล้วหลายครั้งตามเอกสารหมาย ล. 1 และ ล. 2 รวมเป็นเงิน 173,000 บาทเศษ ซึ่งเจือสมกับที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ได้เบิกถอนเงินตามเอกสารหมาย ล. 1 และ ล. 2 จากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 แล้ว ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในเอกสารหมาย ล. 1 และ ล. 2 แล้ว แต่เมื่อคำนวณยอดเงินทั้งหมดตามเอกสารหมาย ล. 1 และ ล. 2 ดังกล่าวได้เงินสุทธิเพียง 155,505 บาท เท่านั้น ดังนี้จึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแต่ละครั้งไปชำระดอกเบี้ยที่คงค้าง ส่วนที่เหลือจึงนำไปหักชำระต้นเงินที่ค้างชำระแต่ละคราวไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำสืบให้ได้ความชัดเจนว่าการชำระเงินดังกล่าวเป็นการชำระหนี้สินรายใด เมื่อหนี้สินจำนวน 150,000 บาท และจำนวน 30,000 บาท ดังกล่าวนั้นไม่ได้กำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้ แต่หนี้สินรายแรกมีผู้ค้ำประกัน 2 ราย ส่วนหนี้สินรายหลังมีผู้ค้ำประกันเพียงรายเดียว หนี้สินรายหลังจึงเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้มีประกันน้อยที่สุด เมื่อจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระแก่โจทก์ จึงต้องถือว่าหนี้รายหลังเป็นอันปลดเปลื้องไปก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง เมื่อจำเลยที่ 1 นำสืบว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2541 จึงให้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้วจำนวน 155,505 บาท ไปจัดใช้หนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยในวันที่ 27 ตุลาคม 2541 โดยให้หักชำระดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือให้หักชำระหนี้ต้นเงินซึ่งเมื่อคำนวณดอกเบี้ยของต้นเงินรายหลังจำนวน 30,000 บาท ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2541 แล้วคิดเป็นดอกเบี้ย 3,187.50 บาท ให้นำไปหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินในหนี้รายแรกซึ่งเมื่อคำนวณดอกเบี้ยของต้นเงินกู้รายแรกจำนวน 150,000 บาท ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจนถึงวันที่ 27 ตุลาคม 2541 แล้ว คิดเป็นดอกเบี้ย 16,582.20 บาท จึงให้หักดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวและต้นเงินตามลำดับ คงเหลือต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจำนวน 44,264.70 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระต้นเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และเมื่อการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้จึงให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 44,264.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระหนี้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share