คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.ฎ.การแบ่งส่วนราชการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2535 มาตรา 3 และ พ.ร.ฎ.แบ่งส่วนราชการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2542 มาตรา 4 กำหนดให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานรวมทั้งดำเนินการด้านกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่น การดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่อาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เมื่อคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 เป็นเหตุให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึง 13
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างได้แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนการพิจารณาโดยชอบ เช่น ได้จากพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องนำสืบในประเด็น เมื่อปรากฏว่าปัญหาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลา 90 วัน จำเลยทั้งสิบสามมิได้ให้การไว้ ทั้งคู่ความมิได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหานี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น จำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีสิทธิยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า “ตราเด็กสมบูรณ์” ของบริษัท ย. ผู้คัดค้าน ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว มีสาระสำคัญที่เหมือนกันคือเป็นรูปเด็กนั่งอุ้มขวด แม้จะมีข้อแตกต่างกันบ้าง เช่น รูปเด็กของโจทก์ถือขวดทางด้านซ้ายมือ แต่รูปเด็กของผู้คัดค้านถือขวดทางด้านขวามือ ก็เป็นข้อแตกต่างในลักษณะปลีกย่อย สินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนของโจทก์เป็นสินค้าจำพวกน้ำปลา ส่วนสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วของผู้คัดค้านเป็นสินค้าจำพวกซีอิ้วอันเป็นสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส สินค้าจำพวกที่ 30 เช่นเดียวกัน ฉะนั้น เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อเป็นการขอจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันย่อมเป็นกรณีที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ซึ่งมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้บัญญัติห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว อย่างไรก็ดีถ้านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าสมควรรับจดทะเบียน มาตรา 27 ของกฎหมายฉบับเดียวกันก็บัญญัติให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ โดยจะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรกำหนดด้วยก็ได้
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามข้อนำสืบของโจทก์ ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” มานานแล้วโดยสุจริต เช่นเดียวกับที่ผู้คัดค้านใช้เครื่องหมายการค้า “ตราเด็กสมบูรณ์” แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วของผู้คัดค้านจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมมีอำนาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” ของโจทก์ตามมาตรา 27 ได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามมาตรา 27 ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน และแม้ข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายจำเลยนำสืบจะรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้า “ตราเด็กสมบูรณ์” ของผู้คัดค้าน ใช้กับสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจำนวนมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการโฆษณาส่งเสริมการขายอย่างกว้างขวางเป็นที่แพร่หลายจนสาธารณชนทั่วไปที่บริโภคสินค้าของผู้คัดค้านรู้จักเป็นอย่างดี ตรงตามหลักเกณฑ์ของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2534) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามมาตรา 8(10) แต่ข้อห้ามดังกล่าวย่อมหมายถึงการห้ามบุคคลอื่นใดนำเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปมายื่นขอจดทะเบียนโดยเจตนาลอกเลียนเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าของตนโดยมิชอบ อันนำไปสู่การสร้างความสับสนหลงผิดให้แก่สาธารณชนทั่วไปในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า กรณีดังกล่าวไม่อาจแปลความรวมไปถึงเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของตนโดยสุจริตควบคู่ร่วมสมัยกับเครื่องหมายการค้าที่ต่อมาภายหลังกลับกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดั่งเช่น เครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” กับเครื่องหมายการค้า “ตราเด็กสมบูรณ์” ในคดีนี้ เพราะมิฉะนั้นแล้วเท่ากับว่าเป็นการจำกัดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมที่ใช้มาโดยสุจริตให้ไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ย่อมเป็นการไม่ชอบธรรมกับเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้ารายการน้ำปลามาเป็นเวลานานโดยสุจริต โจทก์ย่อมรับได้ความคุ้มครองตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีดุลพินิจที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันได้ โดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้นเพื่อป้องกันสาธารณชนสับสนหลงผิดไว้ด้วยก็ได้ ฉะนั้น ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 วินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 1797/2543 ที่ 1798/2543 และที่ 1799/2543 ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า (จำเลยที่ 2 ถึงที่ 13) และให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 372454 เลขที่ 372455 และเลขที่ 372456 รวม 3 คำขอของโจทก์ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสิบสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 1797/2543 ที่ 1798/2543 และที่ 1799/2543 ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 หรือไม่ เห็นว่า พระราชกฤษฎีกาการแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2535 มาตรา 3 และพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ พ.ศ.2542 มาตรา 4 กำหนดให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติงานรวมทั้งดำเนินการด้านกฎหมายตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าและทรัพย์สินทางปัญญาอื่น การดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่อาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 เป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า เมื่อคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 เป็นเหตุให้โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอไม่ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13
ส่วนจำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดเวลา 90 วัน นั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องแม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างได้ แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่ข้อกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้มาจากข้อเท็จจริงในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ เช่นได้จากพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องนำสืบในประเด็น แต่ปรากฏว่าปัญหานี้จำเลยทั้งสิบสามมิได้ให้การไว้ ทั้งคู่ความมิได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหานี้ การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น จำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีสิทธิยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของจำเลยทั้งสิบสามมีว่า คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 ที่ให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ทั้งสามชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสามของโจทก์กับเครื่องหมายการค้า “ตราเด็กสมบูรณ์” ของบริษัทหยั่นหว่อหยุ่น จำกัด ผู้คัดค้าน ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว มีสาระสำคัญที่เหมือนกันคือเป็นรูปเด็กนั่งอุ้มขวด แม้จะมีข้อแตกต่างกันบ้าง เช่น รูปเด็กของโจทก์ถือขวดทางด้านซ้ายมือ แต่รูปเด็กของผู้คัดค้านถือขวดทางด้านขวามือ ก็เป็นข้อแตกต่างกันในลักษณะปลีกย่อย สินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนของโจทก์เป็นสินค้าจำพวกน้ำปลา ส่วนสินค้าที่ใช้กับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วของผู้คัดค้านเป็นสินค้าจำพวกซีอิ้ว อันเป็นสินค้าประเภทเครื่องปรุงรส สินค้าจำพวกที่ 30 เช่นเดียวกัน ฉะนั้น เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้คัดค้านที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อเป็นการขอทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันย่อมเป็นกรณีที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าซึ่งมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้บัญญัติห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว อย่างไรก็ดีถ้านายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าซึ่งต่างเจ้าของต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือพฤติการณ์พิเศษที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าสมควรรับจดทะเบียน มาตรา 27 ของกฎหมายฉบับเดียวกันก็บัญญัติให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้รับจดทะเบียนไว้แล้วได้ โดยจะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น หรือเงื่อนไขและข้อจำกัดอื่นตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรกำหนดด้วยก็ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามข้อนำสืบของโจทก์ ว่าโจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” มาแล้วโดยสุจริตเช่นเดียวกับที่ผู้คัดค้านใช้เครื่องหมายการค้า “ตราเด็กสมบูรณ์” แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วของผู้คัดค้านจะเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันและใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าย่อมมีอำนาจรับจดทะเบียนเครื่องการค้า “ตราเด็ก” ของโจกท์ตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามมาตรา 27 ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ถือเป็นเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย ไม่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (9) แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน
สำหรับปัญหาว่าเครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” ของโจกท์ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนมาตรา 8 (10) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญหาและการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงตามที่ฝ่ายจำเลยนำสืบจะรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้า “ตราเด็กสมบูรณ์” ของผู้คัดค้าน ใช้กับสินค้าที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการโฆษณาส่งเสริมการขายอย่างกว้างขวางเป็นที่แพร่หลายจนสาธารณชนทั่วไปที่บริโภคสินค้าของผู้คัดค้านรู้จักเป็นอย่างดี ตรงตามหลักเกณฑ์ของเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2543) เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่ห้ามมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนตามมาตรา 8 (10) แต่ข้อห้ามดังกล่าวย่อมหมายถึงการห้ามบุคคลอื่นใดนำเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปมายื่นคำขอจดทะเบียนโดยเจตนาลอกเลียนเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าของตนโดยมิชอบ อันนำไปสู่การสร้างความสับสนหลงผิดให้แก่สาธารณชนทั่วไปในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า กรณีดังกล่าวไม่อาจแปลความรวมไปถึงเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของตนโดยสุจริตควบคู่ร่วมสมัยมากับเครื่องหมายการค้าที่ต่อมาภายหลังกลับกลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปดั่งเช่น เครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” กับ เครื่องหมายการค้า “ตราเด็กสมบูรณ์” ในคดีนี้ เพราะมิฉะนั้นแล้วเท่ากับว่าเป็นการจำกัดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิมที่ใช้มาโดยสุจริตให้ไม่ได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายโดยเท่าเทียมกัน ย่อมเป็นการไม่ชอบธรรมกับเจ้าของเครื่องหมายการค้าเดิม ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” และใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้ารายการน้ำปลามาเป็นเวลานานโดยสุจริต โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีดุลพินิจที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันได้ โดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้าเพื่อป้องกันสาธารณชนสับสนหลงผิดไว้ด้วยก็ได้ ฉะนั้น ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 วินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า “ตราเด็ก” ของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share