คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีอาญาเรื่องก่อนพนักงานอัยการจังหวัดระยองฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมีโจทก์เป็นผู้เสียหาย ศาลจังหวัดระยองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาน้ำมันเป็นเงิน 540,940 บาท แก่โจทก์ซึ่งเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่ผู้เสียหายจะใช้สิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทางคือในมูลละเมิดและมูลสัญญาจ้างแรงงาน คดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ถึงแม้คำขอบังคับจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันคือขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการจังหวัดระยองขอบังคับในส่วนแพ่งนั้นมาการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด ส่วนคดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน ประเด็นที่วินิจฉัยจึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมัน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายที่เกิดจากจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ วันที่ 11 พฤษภาคม 2546 โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงของบริษัทระยองเพียวริฟายเออร์ จำกัด ลูกค้าโจทก์จากคลังน้ำมันจังหวัดระยองไปส่งที่คลังน้ำมันจังหวัดนครราชสีมาจำนวน 37,000 ลิตร แต่จำเลยที่ 1 ยักยอกน้ำมันเชื้อเพลิงไปขายให้บุคคลอื่น โจทก์ต้องชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูญหายเป็นเงิน 516,198.20 บาท ไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2546 โจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 ออกจากงานและเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถูกยักยอกพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2546 แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,452.47 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 522,650.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 516,198.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัด ศาลแรงงานกลางพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียวตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคสอง
จำเลยที่ 2 แถลงไม่ติดใจต่อสู้คดีและไม่สืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ยักยอกเอาน้ำมันเชื้อเพลิงของลูกค้าโจทย์ไปขาย ทำให้โจทย์ต้องชดใช้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง 516,198.20 บาท ให้ลูกค้า จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ตามสัญญาแรงงานและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426.224 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วยมาตรา 680 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 51,198.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2546 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องให้ไม่เกินที่โจทก์ขอ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนจนครบ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2717/2546 ของศาลจังหวัดระยองที่พนักงานอัยการจังหวัดระยองฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมีโจทก์เป็นผู้เสียหาย ซึ่งศาลจังหวัดระยองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ราคาน้ำมันเป็นเงิน 540,940 บาท แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องคดีอาญาดังกล่าวนั้นแม้จะถือว่าเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้เกิดความเสียหายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่ผู้เสียหายจะใช้สิทธิเรียกร้องได้ทั้งสองทางคือในมูลเหตุละเมิดและมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงานที่มีต่อกันอยู่ ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ถึงแม้คำขอบังคับจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันคือขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการจังหวัดระยองขอบังคับในส่วนแพ่งนั้นมาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อมูลหนี้ในคำฟ้องของทั้งสองคดีเป็นคนละอย่างเช่นนี้ประเด็นที่วินิจฉัยจึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share