คำสั่งศาลฎีกาที่ 9024/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารราชการ 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบ จำคุก 1 เดือน ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน จำคุก 2 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้โดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องตามฟ้องที่จำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะความผิดฐานปลอมเอกสารราชการกระทงหนึ่ง โดยความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานกับความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมเพียงบทเดียว จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน จึงเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและโทษ เป็นการแก้ไขมาก แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้เพิ่มเติมโทษ จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้โทษจำเลยฐานปลอมเอกสารราชการอีกกระทงหนึ่งเป็นการแก้เฉพาะโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบ ไม่ได้แก้ไข เท่ากับพิพากษายืน จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91, 137, 264, 265 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 12, 62 ริบใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลสามฉบับของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 264, 265 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 62 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปลอมเอกสารราชการรวมสองกระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปี ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ผ่านช่องทางที่กำหนด จำคุก 1 เดือน ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานจำคุก 2 เดือน รวมจำคุก 4 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 2 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดเกี่ยวกับเอกสารจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 265, 265 ประกอบมาตรา 268 วรรคแรก (ที่ถูก มาตรา 137, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารราชการและผู้ใช้เอกสารราชการปลอมตามฟ้องข้อ ก. เอง จึงให้ลงโทษจำเลยฐานใช้เอกสารราชการปลอม ตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 กระทงเดียว ตามมาตรา 268 วรรคสอง ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานกับความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมดังกล่าว เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมอันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารราชการตามมาตรา 265 กระทงหนึ่ง และฐานใช้เอกสารราชการปลอมอีกกระทงหนึ่ง จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมสองกระทง เป็นจำคุก 2 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี เมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 1 ปี 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารราชการ 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี ฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบ จำคุก 1 เดือน ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน จำคุก 2 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุก 2 ปี 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้โดยปรับบทลงโทษให้ถูกต้องตามฟ้องที่จำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะความผิดฐานปลอมเอกสารราชการกระทงหนึ่งเป็นว่า ความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน กับความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมอันเป็นกฎหมายที่มีบทหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน จึงเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและโทษ เป็นการแก้ไขมาก แต่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำคุกจำเลยในกระทงนี้ไม่เกิน 2 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้เพิ่มเติมโทษจำเลย จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิดกระทงนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้โทษจำเลยฐานปลอมเอกสารราชการอีกกระทงหนึ่งเป็นการแก้เฉพาะโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบ ไม่ได้แก้ไข เท่ากับพิพากษายืน และให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในความผิด 2 กระทงนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยฎีกาขอให้รอการโทษจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ซึ่งขั้นตอนในการขออนุญาตฎีกาตามบทบัญญัติในมาตรานี้ มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องจำเลยระบุชื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาได้ การที่ ส. ผู้พิพากษาซึ่งมิได้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา กลับเป็นผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียเอง จึงเป็นการไม่ชอบ ไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการจัดส่งคำร้องของจำเลยไปให้ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องพิจารณาและมีคำสั่งเกี่ยวกับฎีกาของจำเลย หากมีการอนุญาตหรือไม่อนุญาตประการใด ก็ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ในชั้นนี้ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา

Share