แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์กับ ม. ขอเปิดบัญชีร่วมกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการเบิกถอนเงินจากบัญชีว่าโจทก์กับ ม. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะเซ็นสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวจากสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ถือเอาเงื่อนไขการเบิกถอนเงินตามที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีร่วมเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โจทก์ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจว่าหากโจทก์มิได้ร่วมลงลายมือชื่อในใบถอนเงินด้วย จะไม่มีใครสามารถที่จะเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการเบิกถอนเงินเช่นว่านี้เป็นอย่างอื่น ย่อมต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญยิ่งของสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กล่าวคือ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์คือทั้งโจทก์และ ม. จะต้องมาปรากฏตัวแสดงตนต่อจำเลยที่ 1 ด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การที่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์และ ม. เป็นลูกค้ารายใหญ่และยอมผ่อนปรนวิธีปฏิบัติให้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้บุคคลทั้งสองมาปรากฏตัวเพื่อแสดงความประสงค์พร้อมกันด้วยตนเองต่อจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหมายเพียงเพื่อการเอาใจลูกค้ารายใหญ่ให้ได้รับความสะดวกโดยไม่ถือปฏิบัติเช่นที่ต้องปฏิบัติตามปกติ ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาที่ต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการธนาคารพาณิชย์ของตน เมื่อลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินฝากเป็นลายมือชื่อปลอม พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นลายมือชื่อปลอมจึงอนุมัติให้ ม. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนได้ เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการธนาคารของตนในส่วนนี้อีกโสดหนึ่งด้วย
ขณะที่โจทก์กับ ม. เปิดบัญชีร่วมต่อจำเลยที่ 1 และ ม. ยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชี รวมทั้งขณะที่ ม. เบิกถอนเงินจากบัญชีร่วมดังกล่าวไปแต่ผู้เดียวนั้น โจทก์กับ ม. ยังเป็นสามีภริยากัน ซึ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1470 และถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ตามมาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ประกอบกับหากเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของโจทก์คนเดียว ก็ไม่มีเหตุที่โจทก์กับ ม. จะกำหนดเงื่อนไขการเบิกถอนเงินว่าต้องลงลายมือสั่งจ่ายทั้งสองคนร่วมกัน จึงฟังว่าเงินในบัญชีเงินฝากที่ ม. เบิกถอนไปนั้นเป็นสินสมรส ซึ่งโจทก์มีส่วนอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,902,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี ของต้นเงิน 9,328,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 9,328,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราที่โจทก์ควรจะได้ หากไม่มีการถอนเงินตามฟ้องออกจากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 101 – 267717 – 3 แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับประเด็นปัญหาว่า พนักงานของจำเลยที่ 1 ได้ใช้ความระมัดระวังตามปกติธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการอาชีพธนาคารพาณิชย์ของจำเลยที่ 1 หรือไม่ นั้น เห็นว่า การที่โจทก์กับนายมอริสขอเปิดบัญชีร่วมต่อธนาคารจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการเบิกถอนเงินจากบัญชีว่าโจทก์กับนายมอริสต้องลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะเซ็นสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวว่าสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ถือเอาเงื่อนไขการเบิกถอนเงินตามที่กำหนดเป็นสาระสำคัญ และเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โจทก์ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจ หากโจทก์มิได้ร่วมลงลายมือชื่อในใบถอนเงินด้วย จะไม่มีใครสามารถที่จะเบิกถอนเงินจากบัญชีนี้ได้ ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการเบิกถอนเงินเช่นว่านี้เป็นอย่างอื่น ย่อมต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญยิ่งของสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างฝ่ายโจทก์ผู้ฝากเงินกับฝ่ายจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากเงิน กล่าวคือ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์ คือทั้งโจทก์และนายมอริสจะต้องมาปรากฏตัวแสดงตนต่อจำเลยที่ 1 ด้วยตนเอง หรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และความข้อนี้ นางอำไพ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 เอง ก็เบิกความถึงวิธีปฏิบัติของจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หากโจทก์และนายมอริสจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนเงินก็สามารถจะกระทำได้ หากโดยทั่วไปเป็นลูกค้าปกติจะต้องมาทั้งหมด แต่เนื่องจากโจทก์กับนายมอริสเป็นลูกค้ารายใหญ่ การเปลี่ยนแปลงและเบิกถอนเงินจากบัญชีไม่จำเป็นที่บุคคลทั้งสองจะต้องมาพร้อมกัน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ผู้รับฝากเงินและมีวิชาชีพเฉพาะกิจการธนาคารไม่ตระหนักถึงพันธกิจในหน้าที่ของตนที่จะต้องใช้ความระมัดระวังกว่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการเช่นว่านี้ ด้วยการต้องถือปฏิบัติว่าลูกค้าผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนเงินในบัญชีร่วมเช่นนี้จะต้องมาปรากฏตัวต่อธนาคารด้วยตนเองทุกคนหรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์และนายมอริสเป็นลูกค้ารายใหญ่และยอมผ่อนปรนวิธีปฏิบัติให้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้บุคคลทั้งสองมาปรากฏตัวเพื่อแสดงความประสงค์พร้อมกันด้วยตนเองต่อจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหมายเพียงเพื่อการให้บริการเอาใจลูกค้ารายใหญ่ให้ได้รับความสะดวกโดยไม่ถือปฏิบัติเช่นที่ต้องปฏิบัติตามปกติ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาที่ต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการธนาคารพาณิชย์ของตนเอง เมื่อลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินฝากเป็นลายมือชื่อปลอม พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นลายเซ็นปลอม จึงอนุมัติให้นายมอริสเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนได้ โดยกล่าวด้วยว่านายมอริสเป็นลูกค้ารายใหญ่ และคุ้นเคยกับจำเลยที่ 2 เป็นอย่างดี เช่นนี้ ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการธนาคารพาณิชย์ของตนในส่วนนี้อีกโสดหนึ่งด้วย รวมความแล้วศาลฎีกาเห็นว่า การที่พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจไม่พบว่าลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากเป็นลายเซ็นปลอมและอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนเงินได้นั้น เข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผู้รับฝากซึ่งเป็นผู้มีวิชาชีพธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ในกิจการธนาคารพาณิชย์ของตนดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 659 วรรคท้าย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เงินในบัญชีรวมที่ถูกเบิกถอนไปดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา ซึ่งศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับประเด็นว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดนั้น จำเลยที่ 1 กล่าวในคำแก้ฎีกาว่า โจทก์กับนายมอริสเป็นสามีภริยากัน เงินฝากในบัญชีรวมจึงเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 ไม่ควรจะต้องรับผิดต่อโจทก์เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนเงินดังกล่าวที่นายมอริสเบิกถอนไปจากบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1533 และมาตรา 1357 นั้น เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นสั่งคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า รับเป็นคำแถลงการณ์เพราะเห็นว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้ฎีกาเกินกำหนดก็ตาม แต่ศาลฎีกาได้ตรวจดูแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้ฎีกาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 247 แล้ว จึงให้รับคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณา และประเด็นตามคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยอมรับว่าจนถึงวันที่โจทก์มาเบิกความต่อศาล โจทก์กับนายมอริสเพียงแต่แยกกันอยู่แต่ยังมิได้หย่าขาดจากกัน ย่อมแสดงว่าขณะที่โจทก์กับนายมอริสเปิดบัญชีรวมต่อจำเลยที่ 1 และนายมอริสยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชีรวมทั้งขณะที่นายมอริสเบิกถอนเงินจากบัญชีร่วมดังกล่าวไปแต่ผู้เดียวนั้น โจทก์กับนายมอริสยังเป็นสามีภริยากันอันมีผลต่อระบบทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาว่าทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นสินสมรสดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1470 และถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่มาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ซึ่งหากหย่ากันกฎหมายกำหนดให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์และนายมอริสได้ส่วนเท่ากันตามมาตรา 1533 ประกอบกับหากเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของโจทก์คนเดียว ก็ไม่มีเหตุที่โจทก์กับนายมอริสจะกำหนดเงื่อนไขการเบิกถอนเงินว่าต้องลงลายมือชื่อสั่งจ่ายทั้งสองคนร่วมกัน อีกทั้งเมื่อมาตรา 1474 วรรคสอง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเงินในบัญชีเงินฝากเช่นนี้เป็นสินสมรส โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว แต่โจทก์หาได้นำสืบไม่ จึงต้องฟังว่าเงินในบัญชีเงินฝากที่นายมอริสเบิกถอนไปทั้งหมดนั้นเป็นสินสมรส ซึ่งโจทก์มีส่วนอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 4,664,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราที่โจทก์จะได้รับหากไม่มีการถอนเงินตามฟ้องออกจากบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 101 – 267717 – 3 แต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ.