คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12582/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธนาคาร ท. ผู้จ่ายเงินตามใบบันทึกการขายซึ่งเกิดจากบัตรเครดิตของธนาคาร ซ. ที่จำเลยปลอมขึ้นและนำไปใช้ซื้อสินค้าให้แก่ร้าน ห. เป็นเพียงได้รับความเสียหายทางแพ่ง ไม่ใช่ถูกจำเลยกระทำทางอาญา จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจขอให้ศาลสั่งจำเลยคืนเงินที่ธนาคาร ท. จ่ายให้แก่ร้าน ห. ให้แก่ธนาคาร ท. ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 80, 83, 91, 264, 265, 268, 341, 342, 357 ริบของกลาง และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 62,300 บาท แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
จำเลยให้การรับสารภาพฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (บัตรเครดิต) ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม (ใบบันทึกการขาย) ฉ้อโกงและพยายามฉ้อโกง ปฏิเสธฐานปลอมเอกสารสิทธิ (บัตรเครดิต) และรับของโจร
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 265 ประกอบมาตรา 264 (ที่ถูกไม่ต้องปรับมาตรา 264), 268 วรรคแรก วรรคสอง (ที่ถูกไม่ต้องปรับวรรคสอง) ประกอบมาตรา 265, มาตรา 341 และมาตรา 341 ประกอบมาตรา 80, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (บัตรเครดิต) ปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม (ใบบันทึกการขาย) และฉ้อโกงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (ใบบันทึกการขาย) ตามมาตรา 269 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 265 ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 4 ปี ฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (บัตรเครดิต) และพยายามฉ้อโกง เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม (บัตรเครดิต) ตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ริบบัตรเครดิตปลอม 2 ใบ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ใบบันทึกการขาย 1 ใบ กระเป๋าหนัง 2 ใบ ของกลาง และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 62,300 บาท แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า แม้การที่จำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าปลอมของกลางไปใช้ กับปลอมใบบันทึกการขายและใช้ใบบันทึกการขายปลอมเพื่อฉ้อโกงทรัพย์ของผู้อื่น จะถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง แต่จำเลยไม่ได้เป็นผู้ปลอมบัตรเครดิตวีซ่าของกลางที่จำเลยนำไปใช้ และการปลอมใบบันทึกการขายและใช้ใบบันทึกการขายปลอมก็เป็นผลสืบเนื่องจากการใช้บัตรเครดิตวีซ่าปลอมของกลาง ทั้งจำเลยนำบัตรเครดิตวีซ่าปลอมของกลางไปใช้เพื่อชำระราคาสินค้าเพียง 2 ครั้ง โดยทรัพย์ที่จำเลยได้จากการกระทำความผิดคงมีเพียงกระเป๋าสะพายผู้หญิงและกระเป๋าเดินทางซึ่งมีราคาไม่สูงมากนักเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 4 ปี จึงหนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และกระเป๋าของกลางนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางและมิได้ขอให้ศาลสั่งริบของกลางดังกล่าวมาในฟ้อง ศาลย่อมริบไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ส่วนกระเป๋าของกลาง เจ้าของไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดจึงริบไม่ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 33 วรรคท้าย และที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 62,300 บาท แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นั้น เห็นว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้จ่ายเงินให้แก่ร้านหลุยส์วิคตอง เป็นเพียงได้รับความเสียหายทางแพ่ง ไม่ใช่ถูกจำเลยกระทำทางอาญาจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานอัยการย่อมไม่มีอำนาจขอให้ศาลสั่งจำเลยคืนเงินจำนวน 62,300 บาท ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จ่ายให้แก่ร้านหลุยส์วิคตองให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2547 แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา กำหนดให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 269/4 วรรคแรก ประกอบมาตรา 269/7 แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมาบังคับแก่จำเลย ไม่เป็นกรณีที่จะต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และกระเป๋าของกลาง กับยกคำขอที่ให้คืนเงินจำนวน 62,300 บาท แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share