คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงื่อนไขตามสัญญาซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้งานในโรงคัดเมล็ดพันธุ์ที่โจทก์ทำกับบริษัท อ. ระบุว่า ผู้ซื้อจะชำระเงินเป็น 4 งวด โดยชำระงวดสุดท้ายเมื่อทดสอบเครื่องจนใช้งานได้ดี นอกจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องส่งมอบเครื่องจักรและติดตั้งให้ผู้ซื้อภายในกำหนดแล้ว โจทก์ต้องออกแบบระบบโรงคัดเมล็ดพันธุ์และติดตั้งระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรทั้งหมด ตลอดจนทดสอบเครื่องจักรให้ใช้งานได้ดีด้วย โดยสัญญากำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของเครื่องจักรไว้ว่า ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่ส่งมอบจนกว่าจะมีการส่งมอบงานทั้งหมด ส่วนเงื่อนไขตามสัญญาซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้ในโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวที่โจทก์ทำกับบริษัท ร. มีข้อความทำนองเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ซื้อชำระเงินเป็น 3 งวด โดยมีสัญญาระบุว่าเครื่องจักรดังกล่าวจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายจนกว่าจะมีการส่งมอบงานเสร็จเรียบร้อย ซึ่งผู้ขายจะต้องทำแบบโครงสร้างและให้คำแนะนำในการติดตั้งเครื่องจักร ทดสอบเดินเครื่องจนใช้งานได้ดี ตลอดจนฝึกสอนเจ้าหน้าที่ของผู้ซื้อจนใช้งานเป็นด้วย สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเป็นสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ทำขึ้นและมีการผ่อนชำระตามสัญญาก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 ข้อ 1 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยทั้งสี่ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีตุลาคม 2540 เลขที่ ตป1. 301005290/5/102277 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2543 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ. 1 (อธ. 2)/2545/146 ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2546 เฉพาะกรณีการคำนวณภาษีจากเงินค่าสินค้าที่โจทก์ได้รับจากบริษัทแอคมี่คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัทโรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด โดยให้โจทก์ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับรายรับจากบริษัททั้งสองในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ฟ้องโจทก์นอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่เพียงประการเดียวว่า สัญญาลำดับที่ 20 ที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทแอคมี่คอนสตรัคชั่น จำกัด เลขที่ อาร์ อี เอส (เอฟ เอ ซี) 1000/03/97 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2540 และสัญญาลำดับที่ 21 ที่โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทโรงงานผลิตอาหารไทย จำกัด เลขที่ อาร์ อี เอส (เอฟ เอ ซี) 1261/08/97 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2540 เป็นสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้าโอนไปยังผู้ซื้อทันทีเมื่อได้ส่งมอบ แม้โจทก์ได้ทำสัญญาและมีการผ่อนชำระราคาสินค้านั้นแล้วก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 ก็ตาม โจทก์ก็ไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากรายรับดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.0 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 309) พ.ศ. 2540 ข้อ 1 (2) หรือไม่ เห็นว่า สัญญาซื้อขายลำดับที่ 20 ทำสัญญาเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 ซึ่งมีรายละเอียดของสัญญาว่า ผู้ขายตกลงขายและผู้ซื้อตกลงซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้งานในโรงคัดเมล็ดพันธุ์ โดยมีรายละเอียดของเครื่องจักรตามเอกสารแนบท้ายสัญญา ในราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 รวมเป็นเงิน 2,900,000 บาท มีเงื่อนไขการชำระเงินเป็น 4 งวด งวดที่ 1 ชำระ 20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อตกลงสั่งซื้อ งวดที่ 2 ชำระ 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อส่งเครื่องจักรหลักถึงโรงสี งวดที่ 3 ชำระ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อย และงวดที่ 4 ชำระ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อทดสอบเครื่องจนใช้งานได้ดี โดยกำหนดส่งของและติดตั้งภายใน 60 วัน หลังจากรับเงินมัดจำงวดที่ 1 แล้ว และสัญญาข้อ 4 ระบุว่า เครื่องจักรเหล่านี้จะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายจนกว่าจะมีการส่งมอบงานทั้งหมด นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 7 ยังระบุความรับผิดชอบของผู้ขายไว้ 5 ประการ คือ ออกแบบระบบโรงคัดเมล็ดพันธุ์ให้ทั้งหมด ติดตั้งเครื่องจักรทั้งหมดตามรายละเอียดในใบเสนอราคา ติดตั้งระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรที่ขายให้ทั้งหมด ทดสอบเครื่องจนใช้งานได้ดี และฝึกสอนเจ้าหน้าที่ของผู้ซื้อให้ใช้งานเป็น จากเงื่อนไขในสัญญาดังกล่าวเห็นได้ว่า นอกจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องส่งมอบเครื่องจักรและติดตั้งให้ผู้ซื้อภายในกำหนดแล้ว โจทก์ยังต้องออกแบบระบบโรงคัดเมล็ดพันธุ์และติดตั้งระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรทั้งหมด ตลอดจนทดสอบเครื่องจักรให้ใช้งานได้ดีด้วย จึงได้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ในสัญญาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของเครื่องจักรไว้ว่า ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่ส่งมอบจนกว่าจะมีการส่งมอบงานทั้งหมด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่มีเงื่อนไขว่า กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อทันทีเมื่อได้มีการส่งมอบสินค้าตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 ดังกล่าว ข้อ 1 (2) สำหรับสัญญาซื้อขายลำดับที่ 21 ก็มีการระบุไว้ในสัญญาทำนองเดียวกับสัญญาซื้อขายลำดับที่ 20 คือ เป็นสัญญาซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้ในโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าว โดยราคาขายเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 ไว้แล้ว และมีเงื่อนไขการชำระเงินรวม 3 งวด งวดที่ 1 ชำระ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อตกลงสั่งซื้อ งวดที่ 2 ชำระ 60 เปอร์เซ็นต์ เมื่อส่งมอบเครื่องจักรหลักถึงโรงงานผู้ซื้อ และงวดที่ 3 ชำระ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อติดตั้งเสร็จเรียบร้อย โดยมีสัญญาข้อ 4 ระบุว่า เครื่องจักรเหล่านี้จะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายจนกว่าจะมีการส่งมอบงานทั้งหมด และกำหนดความรับผิดชอบของผู้ขายในข้อ 7 ว่า จะต้องทดสอบเดินเครื่องจนใช้งานได้ดี ฝึกสอนเจ้าหน้าที่ของผู้ซื้อจนใช้งานเป็น และทำแบบโครงสร้างและให้คำแนะนำในการติดตั้ง สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้าโอนไปยังผู้ซื้อทันทีเมื่อได้ส่งมอบเช่นเดียวกับสัญญาซื้อขายลำดับที่ 20 สัญญาซื้อขายทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ทำสัญญาและมีการผ่อนชำระตามสัญญาก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่องประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 ข้อ 1 (2) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาในปัญหานี้มาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share