คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6012/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 160 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำการสอบสวนและทำความเห็นคดีอาญาในฐานะพนักงานสอบสวนได้นั้นจะต้องปรากฏว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดในทางอาญาเกิดขึ้นในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ที่จะสอบสวนกรณีเดียวกันนี้ได้ การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจรายงานการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและบันทึกการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยในสำนวนแล้วมีคำสั่งไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยและกรรมการบริษัทจำเลยตามคำร้องของโจทก์ ถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยหรือผู้หนึ่งผู้ใดกระทำผิดในทางอาญาเกี่ยวกับการล้มละลายจึงมิได้ทำการสอบสวนผู้ใด ซึ่งเป็นดุลพินิจและอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 160 วรรคหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนหรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้ด้วยตนเองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7), 2 (8) ประกอบมาตรา 28 (2)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2544 ต่อมาวันที่ 22 มกราคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่า จำเลยยังคงประกอบกิจการโรงแรมสมุยยุโฟเรียที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อันเป็นการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 23 และมาตรา 24 และถือเป็นการกระทำความผิดอาญาซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจสอบสวนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 160 ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยและนางอรุณ กรรมการของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 163 (1) ประกอบมาตรา 175 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งว่า นางอรุณกรรมการของจำเลยได้ให้การไว้ในชั้นไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วว่ามิได้ดำเนินกิจการโรงแรมที่เกาะสมุยเพราะได้มีการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นโรงแรมของจำเลยให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจดำเนินการตามคำร้องของโจทก์ได้
โจทก์ยื่นคำร้องว่า แม้กิจการโรงแรมของจำเลยขายทอดตลาดไปแล้ว แต่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ซื้อทรัพย์ยังเข้าครอบครองไม่ได้โดยอยู่ระหว่างฟ้องขับไล่และบังคับคดีจำเลย และจำเลยเคยแถลงรับในที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกว่ายังประกอบกิจการโรงแรมดังกล่าวอยู่แต่รายรับน้อยกว่ารายจ่ายจึงไม่ส่งรายได้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีฐานะเป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 160 มีอำนาจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยและนางอรุณกรรมการของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 163 (1) ประกอบมาตรา 175 ในความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 23 ขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกกรรมการจำเลยมาสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาตามกฎหมายต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า แม้กรรมการของจำเลยเคยแถลงในที่ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกยอมรับว่ายังคงประกอบกิจการโรงแรมอยู่แต่ก็มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายพร้อมทั้งส่งบัญชีแสดงรายรับ/รายจ่าย ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ดังกล่าวก็ไม่ติดใจบัญชีแสดงรายรับ/รายจ่าย และลงมติให้จำเลยระงับการดำเนินกิจการของจำเลยนับแต่วันประชุมเจ้าหนี้แล้ว และชั้นไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2545 กรรมการจำเลยให้การยืนยันว่าจำเลยมิได้ดำเนินกิจการอีกต่อไปแต่ผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้ดำเนินกิจการเอง ประกอบกับทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบกิจการได้ขายทอดตลาดและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ไปแล้ว คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบด้วยข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลล้มละลายกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ถ้ามีเหตุควรเชื่อได้ว่าลูกหนี้หรือผู้หนึ่งผู้ใดได้กระทำผิดในทางอาญาเกี่ยวกับการล้มละลาย ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีที่พนักงานอัยการมีความเห็นว่าไม่ควรฟ้องซึ่งแย้งกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ส่งสำนวนไปยังอธิบดีกรมอัยการเพื่อสั่ง” ตามบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำการสอบสวนและทำความเห็นคดีอาญาในฐานะพนักงานสอบสวนได้นั้นจะต้องปรากฏว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำผิดในทางอาญาเกิดขึ้นในระหว่างดำเนินกระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะสอบสวนกรณีเดียวกันนี้ได้ ในคดีนี้การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจรายงานการประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกและบันทึกการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยเอกสารในสำนวนแล้วมีคำสั่งไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยและกรรมการของจำเลยตามคำร้องของโจทก์นั้น ถือได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยหรือผู้หนึ่งผู้ใดกระทำผิดในทางอาญาเกี่ยวกับการล้มละลายจึงมิได้ทำการสอบสวนผู้ใด ซึ่งเป็นดุลพินิจและอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของโจทก์ที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน หรือฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้ด้วยตนเองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (7) (8) ประกอบมาตรา 28 (2) คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share