แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์และลงลายมือชื่อรับมอบรถยนต์ไว้ในสัญญาเช่าซื้อล่วงหน้าโดยยังไม่ได้รับรถยนต์ไป การที่จำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปรับรถยนต์ที่เช่าซื้อจากโจทก์ ไม่ใช่เป็นการมอบให้เป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อ จึงไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลล่างที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวอย่างไรก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีที่ให้จำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 523,548 บาท และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 84,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 84,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 14,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์หรือใช้ราคาแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อยี่ห้อโตโยต้า ไฮลักซ์ไทเกอร์ รุ่น 3,000 ซีซี แบบกระบะบรรทุก หมายเลขเครื่องยนต์ 5 แอล – 9038631 หมายเลขโครงรถ เอ็มอาร์ 032 แอลเอ็นจี 705016340 คืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 402,000 บาท และให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จำนวน 66,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 66,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 11,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแต่ไม่เกิน 6 เดือน และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2542 จำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์โตโยต้า ไฮลักซ์ไทเกอร์ รุ่น 3,000 ซีซี แบบกระบะบรรทุกกับโจทก์ในราคา 523,548 บาท มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้มอบสมุดบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์นำไปถ่ายสำเนาและให้จำเลยที่ 1 รับรองสำเนาถูกต้องไว้พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน แต่บัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 หมดอายุ จำเลยที่ 1 แจ้งแก่นางกนกพร พนักงานบริษัทโจทก์ พยาน ว่าจะไปทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่กับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 1 จะมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ที่รับรองถูกต้องพร้อมเงินให้จำเลยที่ 2 นำมาให้โจทก์เพื่อรับรถจากโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อรับมอบรถไว้ล่วงหน้าในสัญญาเช่าซื้อด้วย หลังจากนั้นในช่วงเย็นวันเดียวกัน จำเลยที่ 2 ได้นำสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 รับรองความถูกต้องพร้อมเงิน 176,039 บาท มามอบให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับมอบรถที่เช่าซื้อไปแทนจำเลยที่ 1 ดังนั้น การกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงการมอบหมายให้จำเลยที่ 2 รับรถที่เช่าซื้อแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น หาใช่เป็นตัวแทนในการทำสัญญาเช่าซื้อแทนจำเลยที่ 1 ไม่ จึงไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้รับรถ และโจทก์ไม่จำต้องสอบถามไปยังจำเลยที่ 1 ก่อนว่าจะให้จำเลยที่ 1 รับรถแทนหรือไม่ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแก่โจทก์ไว้ก่อนแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบรถตามสัญญาเช่าซื้อแล้ว เมื่อต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถคืนโจทก์และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาโต้แย้งว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวอย่างไรก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคดีได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.