คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4860/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และจำเลยทั้งสิบสองซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 2 แปลง ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง โดยให้โจทก์ได้ที่ดินแปลงละ 1 ไร่ และระบุตำแหน่งที่ดินส่วนของโจทก์ไว้ด้วย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ในขณะที่จำเลยที่ 12 เป็นผู้เยาว์โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 เท่ากับว่า กรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 12 ยังคงครอบไปเหนือที่ดินพิพาททั้งหมดตามส่วนของตนจนกว่าจะมีการแบ่งแยก ซึ่งมีผลไม่เพียงแต่เฉพาะในเรื่องการกำหนดตำแหน่งของที่ดินเท่านั้น แต่ยังมีผลรวมตลอดไปถึงจำนวนเนื้อที่ดินด้วย เพราะหากแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แปลงละ 1 ไร่ ตามข้อตกลงแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เหลือย่อมจะมีจำนวนลดน้อยลง และไม่อาจนำมาแบ่งให้แก่จำเลยทั้งสิบสองได้ในจำนวนเท่า ๆ กันโดยไม่กระทบถึงสิทธิในจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยที่ 12 จะพึงได้รับ เมื่อข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 และมีผลกระทบถึงจำนวนเนื้อที่ดินตลอดจนตำแหน่งของที่ดินที่จะแบ่งแยกเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันไม่อาจแบ่งแยกออกได้จากนิติกรรม ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้ร่วมกระทำ ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ด้วย โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสิบสองแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ตนตามข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามฟ้อง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2548)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสองไปดำเนินการลงชื่อจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมเพื่อออกโฉนดใหม่ให้แก่โจทก์โฉนดละ 1 ไร่ ตามคำขอรังวัดแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมและบันทึกถ้อยคำ โดยให้จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินเลขที่ 38145 และ 38163 ไปจดทะเบียนแบ่งแยก ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี หากจำเลยทั้งสิบสองไม่ไปขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสิบสอง และหากจำเลยที่ 1 ไม่นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนแบ่งแยก ขอให้ศาลมีคำสั่งไปยังเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี เพื่อให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 38145 และ 38163 ใหม่เพื่อดำเนินการตามคำขอท้ายฟ้องให้เสร็จสิ้น ให้โจทก์รับโฉนดที่ดินใหม่ 2 โฉนด ในส่วนของโจทก์ที่ได้รังวัดแบ่งแยกออกมาจากโฉนดที่ดินเลขที่ 38145 และ 38163 จากเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 12 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38163 และโฉนดเลขที่ 38145 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี กรุงเทพมหานคร เนื้อที่แปลงละ 369 23/100 ตารางวา ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 12 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38163 และโฉนดเลขที่ 38145 ตำบลทรายกองดิน อำเภอมีนบุรี (เมือง) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่แปลงละ 1 ไร่ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 12 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่วินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 38145 และ 38163 เนื้อที่แปลงละ 1 ไร่ โดยมิได้ระบุว่าที่ดินที่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งอยู่ตรงส่วนไหนของที่ดินแต่ละแปลง โจทก์จึงฎีกาขอให้ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่มิได้ระบุว่าที่ดินที่โจทก์ได้รับส่วนแบ่งอยู่บริเวณใดของที่ดินแต่ละแปลง และพิพากษาให้โจทก์ได้เนื้อที่ดินแปลงละ 1 ไร่ ตามที่ได้ตกลงแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ไว้ จึงควรวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสิบสองมีผลผูกพันต่อกันหรือไม่ เพียงใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสิบสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท 2 แปลง ได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งแยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยให้โจทก์ได้ที่ดินแปลงละ 1 ไร่ และระบุตำแหน่งที่ดินส่วนของโจทก์ไว้ด้วย อันมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1574 (12) ในขณะที่จำเลยที่ 12 เป็นผู้เยาว์โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากศาล ข้อตกลงในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 แล้ว ย่อมเท่ากับว่ากรรมสิทธิ์รวมของจำเลยที่ 12 ยังคงครอบไปเหนือที่ดินพิพาททั้งหมดตามส่วนของตนจนกว่าจะมีการแบ่งแยก ซึ่งมีผลไม่เพียงแต่เฉพาะในเรื่องการกำหนดตำแหน่งของที่ดินตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเท่านั้น แต่ยังมีผลรวมตลอดไปถึงจำนวนเนื้อที่ดินด้วย เพราะหากแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แปลงละ 1 ไร่ ตามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ที่ดินพิพาทในส่วนที่เหลือย่อมจะมีจำนวนลดน้อยลง และไม่อาจนำมาแบ่งให้แก่จำเลยทั้งสิบสองได้ในจำนวนเท่า ๆ กันโดยไม่กระทบถึงสิทธิในจำนวนเนื้อที่ดินที่จำเลยที่ 12 จะพึงได้รับ เมื่อข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 12 และมีผลกระทบถึงจำนวนเนื้อที่ดินตลอดจนตำแหน่งของที่ดินที่จะแบ่งแยกเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันไม่อาจแบ่งแยกออกได้จากนิติกรรมซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ได้ร่วมกระทำ ข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ด้วย โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสิบสองแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่ตนตามข้อตกลงเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามฟ้อง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ.

Share