คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6401/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารมาก่อนจำเลยทั้งสองและมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสองในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเคมีอาหารในจำพวกที่ 42 เดิม จึงขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติมาตรา 41 (1) แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 42 เดิม และใช้กับสินค้าเคมีอาหารดีกว่าจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาในคดีก่อนผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองเฉพาะในประเด็นที่ว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนคำว่า “Kyuta” ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนคำว่า “Kyuta” ไว้กับสินค้าเคมีอาหารในจำพวกที่ 42 เดิมของจำเลยที่ 1 ดีกว่าจำเลยทั้งสองเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์อ้างว่า ระหว่างปี 2529 ถึงปี 2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง และ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคสอง ซึ่งในคดีก่อนยังมิได้วินิจฉัยไว้ ดังนี้ แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีก่อนซึ่งถึงที่สุดแล้ว แต่โจทก์มิได้รื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองอีกในประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารดีกว่าจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ จึงมิใช่การรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 148
โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดต่อโจทก์โดยทำการลวงขายสินค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2529 ถึงปี 2542 เป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหายถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 อันเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีก่อน แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2529 ตลอดมาจนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 แล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 จึงเกินกำหนดอายุความ 1 ปี สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดของจำเลยทั้งสองระหว่างปี 2529 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2542 ของโจทก์ย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองทำการลวงขายในวันที่ 24 มีนาคม 2542 ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปีเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 365,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียเพราะจำเลยทั้งสองผลิตสินค้าประเภทเคมีอาหารเพื่อจำหน่ายโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” เหมือนและคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์และอาศัยชื่อเสียงและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่แพร่หลายทั่วไปในวงการค้าเคมีอาหารทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดคิดว่าสินค้าที่จำเลยทั้งสองจำหน่ายเป็นสินค้าของโจทก์และหลงผิดว่าแหล่งกำเนิดสินค้าดังกล่าวมาจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารมาก่อนจำเลยทั้งสอง และมีสิทธิดีกว่าจำเลยทั้งสองในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเคมีอาหารในจำพวกที่ 42 เดิม ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้าดังกล่าว โดยอาศัยสิทธิตามบทบัญญัติมาตรา 41 (1)แห่ง พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ก็มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวกที่ 42 เดิม และใช้กับสินค้าเคมีอาหารดีกว่าจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาในคดีก่อนผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองเฉพาะในประเด็นที่ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนคำว่า “Kyuta” ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารและมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนคำว่า “Kyuta” ไว้กับสินค้าเคมีอาหารในจำพวกที่ 42 เดิม ของจำเลยที่ 1 ดีกว่าจำเลยทั้งสองเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์อ้างว่า ระหว่างปี 2529 ถึงปี 2542 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการผลิตสินค้าเคมีอาหารออกจำหน่ายแก่ลูกค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” เหมือนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยมีลักษณะการบรรจุสินค้าเช่นเดียวกับสินค้าของโจทก์อันเป็นการลวงสาธารณชนให้เข้าใจว่าเป็นสินค้าของโจทก์โดยจำเลยทั้งสองอาศัยชื่อเสียงและยี่ห้อทางการค้าของโจทก์ที่แพร่หลายทั่วไปแล้วในวงการเคมีอาหารนั้น เป็นการอ้างว่าจำเลยทั้งสองทำการลวงขายสินค้าของจำเลยทั้งสองว่าเป็นสินค้าของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” และเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง และ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคสอง ซึ่งในคดีก่อน ยังมิได้วินิจฉัยไว้ ดังนี้ แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองในคดีนี้จะเป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีตามคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้วในคดีก่อน แต่โจทก์มิได้รื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองอีกในประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ที่ใช้กับสินค้าเคมีอาหารดีกว่าจำเลยทั้งสองแต่อย่างใด การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ จึงมิใช่การรื้อร้องฟ้องจำเลยทั้งสองอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอันเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 148 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้แต่ยังมิได้วินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 หรือไม่ และจำเลยทั้งสองกระทำการลวงขายและต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อการลวงขายนั้นหรือไม่ เพียงใด ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสองได้นำสืบพยานหลักฐานมาแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปโดยไม่ย้อนสำนวน ในปัญหาว่าสิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “Kyuta” ซึ่งยังมิได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าเคมีอาหารย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดฐานลวงขายของจำเลยทั้งสองได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง และ พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 46 วรรคสอง โดยต้องฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องดังกล่าวภายในกำหนดอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดต่อโจทก์โดยทำการลวงขายสินค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2529 ถึงปี 2542 เป็นเวลาต่อเนื่องกันโดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหายถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 อันเป็นวันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีก่อน แสดงว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวตั้งแต่ปี 2529 ตลอดมาจนถึงวันที่ 24 มีนาคม 2542 แล้ว ดังนี้ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 จึงเป็นการฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดตั้งแต่ปี 2529 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2542 เกินกำหนดอายุความ 1 ปี ดังกล่าวแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดของจำเลยทั้งสองระหว่างปี 2529 ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2542 ของโจทก์ย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนสำหรับการละเมิดที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองทำการลวงขายในวันที่ 24 มีนาคม 2542 ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ดังกล่าวเท่านั้น
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share