แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยบรรทุกสินค้าไปตกเขา จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ฐานประพฤติผิดวินัยอย่างร้ายแรงเนื่องจากโจทก์ขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์จึงยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง(ศาลจังหวัดนครสวรรค์) เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๓๑ เรียกค่าเสียหายที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ ศาลนัดพิจารณาวันที่ ๒๓มิถุนายน ๒๕๓๑ ไว้แล้ว ต่อมาวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๑ โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้ เรียกค่าเสียหายกับเรียกค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าบำเหน็จค่าเล่าเรียนบุตรที่ค้างชำระเข้ามาด้วย จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ครั้นวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๓๑ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาคดีเดิมโจทก์ไม่ไปศาลตามกำหนดศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) จึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีแต่เมื่อมูลคดีของคดีเดิมและคดีนี้เนื่องมาจากโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าของจำเลยตกเขา อันเป็นมูลคดีเดียวกัน โจทก์มาฟ้องคดีนี้จึงเป็นการยื่นคำฟ้องในเรื่องเดียวกันเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓(๑) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ตั้งแต่วันยื่นคำฟ้องแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าคดีเดิมศาลแรงงานกลาง (ศาลจังหวัดนครสวรรค์) จะได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีก่อนที่ศาลแรงงานกลางจะมีคำพิพากษาคดีนี้ศาลแรงงานกลางจึงพิพากษายกฟ้องโจทก์และเมื่อศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง ฟ้องแย้งของจำเลยก็ย่อมตกไป เพราะไม่มีฟ้องเดิมและไม่มีตัวโจทก์เดิมที่จะเป็นจำเลยอยู่ต่อไป.