แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มรฎก,พินัยกรรม์,ลักษณแปลความในเอกสาร
ย่อยาว
คดีเปนปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยหนังสือหมาย ข. ฉบับหนึ่งว่าเปนหนังสือพินัยกรรม์ฤาไม่ หนังสือนั้นมีข้อความว่า “วันที่ …..ฯ ข้าพเจ้านางพินอายุ ๖๒ ปี ฯลฯ ได้ทำหนังสือพินัยกรรม์ยกโฉนดที่ดิน ฯลฯ เลขที่ ๑๘๘ โฉนดที่ ๒๒๓๖ เปนเนื้อที่ ๓ ไร่ ๒ งาน ๒๘ วา ให้กับนางแจ้งตั้งแต่วันทำหนังสือนี้เปนต้นไป ต่อหน้าพระสงฆ์ ๒ องค์กับผู้ใหญ่บ้าน แลพยานดังมีรายชื่อต่อไปนี้ ฯลฯ ”
ฎีกาตัดสินว่า หนังสือฉบับนี้เปนหนังสือพินัยกรรม์ของนางพินที่ทำโดยถูกต้องตามกฎหมายเพราะผู้นั่งได้ลงชื่อครบคณะ แม้ข้อความในหนังสือนั้นจะปรากฎว่า นางพินยกโฉนดที่ดินให้แก่โจทย์ตั้งแต่วันทำหนังสือเปนต้นไปก็ดี ปรากฎว่าทรัพย์นั้นไม่ได้ตกถึงมือโจทย์ในทันที อีกประการหนึ่งข้อความในหนังสือก็บ่งชัดว่าเปนพินัยกรรม์ ซึ่งควรแปลว่าเปนความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม์ให้ใช้ได้เมื่อตายแล้ว ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๗/๑๒๐ กับศาลฎีกาเห็นต่อไปว่า ลักษณตีความในเอกสารท่านให้ถือเอาทางอันจะทำให้เอกสารเปนผลบังคับได้ดีกว่าที่จะถือเอาทางที่ไร้ผล