แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลังจากที่โจทก์ทราบว่าสินค้าที่เก็บในคลังสินค้าได้รับความเสียหายจากพายุฝนแล้ว แม้โจทก์จะทราบถึงจำนวนสินค้าที่เก็บไว้ในคลังสินค้าแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจทราบจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงได้จนกว่าจะได้มี การสำรวจค่าเสียหายก่อน ในวันที่โจทก์ได้ยื่นประมาณการกำไรสุทธินั้น โจทก์ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า สินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายเท่าใด และไม่ทราบว่าโจทก์จะมีรายได้ที่จะได้รับจากค่าเสียหายที่บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้ แก่โจทก์เพียงใด อีกทั้งไม่ทราบว่าบริษัทประกันภัยจะไม่รับเอาสินค้าที่ได้รับความเสียหายไป จึงทำให้โจทก์มีกำไรจากการขายซากทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก การที่โจทก์ยื่นประมาณการกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 ขาดเกินไปกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิ ที่ได้รับจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการ จึงมีเหตุอันสมควร
ตามสัญญาให้บริการด้านการตลาดที่บริษัทต่างประเทศตกลงให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่อง การบริหารการเงินและด้านการตลาดให้แก่โจทก์ เป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 และการรับจ้างทำของดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีการให้ใช้สิทธิในกรรมวิธี สูตร หรือ สิทธิในการประกอบกิจการอันเป็นความลับแต่อย่างใด แม้การจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาจะกำหนดให้คิดคำนวณในอัตราร้อยละของยอดขายสินค้า ที่บริษัทต่างประเทศเป็นผู้ให้สิทธิแก่โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่าย แต่บริษัทต่างประเทศก็มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์เป็นตัวแทนขายสินค้าที่มีชื่อตราสินค้าหรือผูกขาดยี่ห้อสินค้าต่าง ๆ แต่ผู้เดียว กรณีที่โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทต่างประเทศจึงไม่ใช่ค่าให้ใช้สิทธิแห่งเครื่องหมายการค้า หรือค่าแห่งสิทธิอย่างอื่นลักษณะทำนองเดียวกับค่าแห่งกู๊ดวิลล์ หรือค่าแห่งลิขสิทธิ์ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (3) และสัญญาดังกล่าวก็ไม่ได้มีการตกลงที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์พิเศษ ซึ่งจะต้องไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนอันเป็นวิทยาการเพื่อให้โจทก์นำไปใช้ จึงมิใช่การให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทาง อุตสาหกรรม การพาณิชย์ หรือวิทยาศาสตร์ อันจะเป็นค่าสิทธิตามที่ระบุไว้ในข้อ 12 วรรคสอง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศเดนมาร์ก เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และทุน เงินค่าบริการดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนตามสัญญารับจ้างทำของ อันเป็นเงินได้ในลักษณะเป็นกำไรทางธุรกิจที่บริษัทต่างประเทศซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และ ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยได้รับจากโจทก์ซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทยตามสัญญาข้อ 7 แห่งอนุสัญญาดังกล่าวประกอบ พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 มาตรา 3 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่ง ป. รัษฎากร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีและเงินเพิ่มที่จำเลยเรียกเก็บจากโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 ถึง 2536 (ที่ถูก 2535) เป็นเงิน 27,986,685 บาท
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีอากรของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลเลขที่ ต.2/1037/2/100955, 100956 และ 100958 ลงวันที่ 19 เมษายน 2538 และหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 3012041/2/100065 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 คำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ส.ภ.1 (อธ. 3)/59 ถึง 62/2543 และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์ยื่นประมาณการกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 ขาดไปเกินไปกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิที่ได้รับจาก กิจการหรือเนื่องจากกิจการโดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ เห็นว่า จากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าหลังจากที่โจทก์ทราบว่า สินค้าที่เก็บในคลังสินค้าได้รับความเสียหายจากพายุฝนแล้ว แม้โจทก์จะทราบถึงจำนวนสินค้าที่เก็บไว้ใน คลังสินค้าแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจทราบจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงได้จนกว่าจะได้มีการสำรวจค่าเสียหายก่อน ซึ่งพยานโจทก์เบิกความว่า ต้องใช้เวลาในการสำรวจความเสียหายเพื่อทราบความเสียหายที่แน่นอนประมาณ 6 เดือน ดังนั้น ในวันที่ 30 สิงหาคม 2533 ซึ่งโจทก์ได้ยื่นประมาณการกำไรสุทธินั้น โจทก์จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายเท่าใด และไม่ทราบว่าโจทก์จะมีรายได้ที่จะได้รับจากค่าเสียหายที่บริษัทประกันภัยจะชดใช้ให้แก่โจทก์เพียงใด อีกทั้งไม่ทราบว่าบริษัทประกันภัยจะไม่รับเอาสินค้าที่ได้รับความเสียหายไป จึงทำให้โจทก์มีกำไรจากการขายซากทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นประมาณการกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2533 ขาดเกินไปกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิที่ได้รับจากกิจการเนื่องจากกิจการ จึงมีเหตุสมควร
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยอีกประการว่า เงินค่าจัดการหรือการจ่ายเงินตามสัญญาให้บริการด้านการตลาดตามฟ้องเป็นค่าสิทธิ และโจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งบริษัทเก็ตซ์เดนมาร์กเอพีเอส จำกัด ตกลงให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องการบริหารการเงินและด้านการตลาดให้แก่โจทก์ อันเป็นการตกลงรับทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 และการรับจ้างทำของดังกล่าวก็ไม่ปรากฏว่ามีการให้ใช้สิทธิในกรรม วิธี สูตร หรือสิทธิในการประกอบกิจการอันเป็นความลับแต่อย่างใด แม้การจ่ายค่าตอบแทนตามสัญญาจะกำหนดให้ คิดคำนวณในอัตราร้อยละของยอดขายสินค้าที่บริษัทเก็ตซ์เดนมาร์กเอพีเอส จำกัด เป็นผู้ให้สิทธิแก่โจทก์เป็น ตัวแทนจำหน่ายนั้น ก็ได้ความว่า บริษัทเก็ตซ์เดนมาร์กเอพีเอส จำกัด มิได้ให้สิทธิแก่โจทก์เป็นตัวแทนขายสินค้าที่มีชื่อตราสินค้าหรือผูกขาดยี่ห้อสินค้าต่าง ๆ แต่ผู้เดียว ดังนั้น กรณีที่โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเก็ตซ์เดนมาร์กเอพีเอส จำกัด จึงมิใช่ค่าให้ใช้สิทธิแห่งเครื่องหมายการค้า หรือค่าแห่งสิทธิอย่างอื่นลักษณะทำนองเดียวกับ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์หรือค่าแห่งลิขสิทธิ์ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 40 (3) และสัญญาการให้บริการดังกล่าวก็ไม่ได้มีการตกลงที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์พิเศษซึ่งจะต้องไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนอันเป็นวิทยาการเพื่อให้โจทก์นำไปใช้ จึงมิใช่การให้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม การพาณิชย์ หรือวิทยาศาสตร์ อันจะเป็นค่าสิทธิตามที่ระบุไว้ในข้อ 12 วรรคสอง แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศเดนมาร์กเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และทุน แต่เงินค่าให้บริการดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนตามสัญญารับจ้างทำของ อันเป็นเงินได้ในลักษณะเป็นกำไรทางธุรกิจที่บริษัทเก็ตซ์เดนมาร์กเอพีเอส จำกัด ที่ประกอบกิจการในต่างประเทศ ซึ่งไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยได้รับจากโจทก์ ซึ่งประกอบกิจการในประเทศไทยตามสัญญาข้อ 7 แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ประกอบ พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 มาตรา 3 โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่ง ป. รัษฎากร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 10,000 บาท แทนโจทก์.