คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2784/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า โจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ ช. เพื่อเป็นหลักประกัน ช. และโจทก์ได้ร่วมกันฉ้อฉลจำเลยโดยโจทก์นำเช็คพิพาทไปลงวันที่แล้วนำไปเรียกเก็บเงินนั้น เป็นคำให้การที่ไม่แสดงโดยชัดแจ้งว่าโจทก์คบคิดกับ ช. ฉ้อฉลจำเลยอย่างไร จึงไม่มีประเด็นเรื่องการโอนด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามมาตรา 916 ที่จะนำสืบ เมื่อเช็คพิพาทเป็นตราสารที่โอนเปลี่ยนมือกันได้ ช. ผู้ทรงย่อมมีสิทธิโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยโจทก์หาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ทั้งเช็คพิพาทสั่งจ่ายให้ผู้ถือ เบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์ผู้ทรงรับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะจดวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทซึ่งจำเลยไม่ลงวันสั่งจ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ตามมาตรา 914

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็ค ซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายนำมาแลกเงินสดจากโจทก์รวม 3 ฉบับ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน โจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามวิธีการของธนาคาร ปรากฏว่าธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 358,526.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 356,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยไม่เคยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่นายชรินทร์เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ แต่นายชรินทร์กลับคบคิดกับโจทก์ฉ้อฉลจำเลย โดยโจทก์นำเช็คพิพาทไปลงวันที่แล้วนำไปเรียกเก็บเงินตามเช็คเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 358,526.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 356,300 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท
จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทรับผิดชำระเงินตามเช็คซึ่งโจทก์ในฐานะผู้ทรงนำไปเรียกเก็บเงินไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้ จำเลยผู้ถูกฟ้องในมูลเช็คพิพาทหาอาจต่อสู้โจทก์ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนนั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 ประกอบมาตรา 989 ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์และจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน จำเลยไม่เคยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่นายชรินทร์เพื่อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ แต่นายชรินทร์คบคิดกับโจทก์ฉ้อฉลจำเลย โดยโจทก์นำเช็คพิพาทไปลงวันที่แล้วนำไปเรียกเก็บเงินเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายนั้น จำเลยมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าโจทก์คบคิดกับนายชรินทร์ฉ้อฉลจำเลยอย่างไร เช็คเป็นตราสารที่โอนเปลี่ยนมือกันได้ นายชรินทร์ซึ่งเป็นผู้ทรงก็ย่อมมีสิทธิโอนเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ผู้รับโอนเช็คพิพาทหาจำต้องมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยไม่ ทั้งการโอนก็ทำได้เพียงส่งมอบให้กันเนื่องจากเช็คพิพาทเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่ผู้ถือ และในเบื้องต้นต้องถือว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมายและทำการโดยสุจริตย่อมมีสิทธิที่จะจดวันออกเช็คตามที่ถูกต้องแท้จริงลงในเช็คพิพาทซึ่งจำเลยมิได้ลงวันสั่งจ่ายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 910 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 989 เมื่อคำให้การของจำเลยไม่ชัดแจ้งว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร จึงเป็นคำให้การที่ไม่มีประเด็นจะนำสืบ และคดีวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยานโจทก์จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทและธนาคารผู้จ่ายปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดนัดต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง, 914, 989 ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.

Share