คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4513/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 ให้ความคุ้มครองงานดนตรีกรรมและงานสิ่งบันทึกเสียงเป็นเวลา 50 ปี เช่นเดียวกับอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและโสตทัศนวัสดุตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ทั้งนี้ตามมาตรา 19 วรรคท้าย และ 21 โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามสัญญาซื้อขาย ลงวันที่ 1 เมษายน 2518 ฉะนั้น ขณะที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานเพลงและเทปต้นแบบที่บันทึกเพลงตามคำฟ้องของโจทก์เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2542 โจทก์จึงยังคงมีลิขสิทธิ์ในงานเพลงและเทปต้นแบบนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ แต่ผู้เดียวในงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 รวมถึงสิทธิในการทำซ้ำ เทปต้นแบบดังกล่าวโดยการบันทึกเสียงลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ หรือในรูปแบบใดที่สามารถนำมาเล่นซ้ำได้อีกซึ่งรวมทั้งการบันทึกเสียงในรูปเทปคาสเซตด้วย
ตามสัญญาซื้อขายงานเพลงระหว่างโจทก์ และ ป. สามีจำเลยที่ 3 ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ ในงานเพลงทั้งหมดและในเทปต้นแบบที่บันทึกงานเพลงพิพาท มิใช่เป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์เฉพาะสิทธิให้นำงานเพลงตามคำฟ้องไปผลิตหรือบันทึกในรูปแบบแผ่นเสียงเท่านั้น นอกจากนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 มาตรา 9 (1) และ 17 ยังบัญญัติให้ผู้มีลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำดนตรีกรรมนั้นเพื่อให้ใช้ได้ด้วยเครื่องกลอันทำให้เกิดเสียงดนตรีนั้นขึ้นอีก และมีลิขสิทธิ์ในสิ่งซึ่งทำโดยวิธีอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดเสียงซ้ำได้ด้วยเครื่องกลซึ่งหมายถึงสิ่งบันทึกเสียงในรูปแบบอื่น ๆ ที่จะมีในอนาคตด้วย ดังนี้แม้ในขณะทำสัญญาดังกล่าวในปี 2518 จะยังไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกเสียงเพลงในรูปของเทปคาสเซตก็ตาม แต่สิทธิในลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ได้มาจากการประมูลตามสัญญาซื้อขายดังกล่าวย่อมรวมถึงสิทธิที่จะทำซ้ำหรือดัดแปลงดนตรีกรรม แผ่นเสียง และเทปต้นแบบที่บันทึกเสียงเพลงตามคำฟ้อง โดยการบันทึกเสียงเพลงนั้นลงในวัสดุใดหรือทำออกมาในรูปแบบใดที่จะมีในอนาคตซึ่งรวมทั้งเทปคาสเซตด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27, 28, 29, 31, 69, 70 และ 73 ป.อ. มาตรา 83 และ 91 และจ่ายค่าปรับที่จำเลยทั้งสี่ต้องชำระตามคำพิพากษากึ่งหนึ่งแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 76
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 4 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27, 28, 31 (1), 69 วรรคสอง และ 70 วรรคสอง ป.อ. มาตรา 83 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 500,000 บาท ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 6 เดือน และปรับ 500,000 บาท ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลยที่ 3 กลับตัวเป็นพลเมืองดีสักครั้ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 (ที่ถูก หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 3 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 และ 30) ให้จ่ายค่าปรับกึ่งหนึ่งแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 76 คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการผลิตแผ่นเสียงและเทปคาสเซตเพลงเพื่อนำออกจำหน่าย โดยจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์เป็นผู้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลแผ่นเสียงทองคำ ส่วนนายปรีชา ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเสียงสยามแผ่นเสียง ต่อมาในปี 2515 โจทก์และนายปรีชาได้ร่วมลงทุนและก่อตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสยามทองคำแผ่นเสียงเพื่อผลิตแผ่นเสียงเพลงออกจำหน่าย ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสยามทองคำแผ่นเสียงได้ผลิตแผ่นเสียงออกจำหน่ายรวมทั้งงานเพลงตามคำฟ้องจำนวน 71 เพลง หลังจากดำเนินกิจการได้ระยะหนึ่งโจทก์และนายปรีชามีความเห็นไม่ตรงกัน จึงได้เลิกประกอบการโดยดำเนินการได้ระยะหนึ่งโจทก์และนายปรีชามีความเห็นไม่ตรงกัน จึงได้เลิกประกอบการโดยดำเนินการจดทะเบียนเลิกห้าง ในการเลิกจ้างดังกล่าวโจทก์และนายปรีชาตกลงซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงที่มีการผลิตและจำหน่ายในระหว่างการประกอบการของหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสยามทองคำแผ่นเสียงทั้งหมดโดยประมูลกันระหว่างโจทก์กับนายปรีชา และโจทก์เป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ในงานเพลงทั้งหมดมาได้ รวมทั้งงานเพลงตามคำฟ้องทั้ง 71 เพลงด้วย ต่อมาเดือนกรกฏาคม 2542 จำเลยที่ 1 ได้ผลิตเทปคาสเซตเพลงจำนวน 8 ชุด ซึ่งมีงานเพลงตามคำฟ้องจำนวน 71 เพลงรวมอยู่ด้วย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดจำหน่ายเทปคาสเซตบันทึกเสียงเพลงดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่า ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ความคุ้มครองงานเพลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานดนตรีกรรม และคุ้มครองแผ่นเสียงและเทปต้นแบบเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานโสตทัศนวัสดุ โดยให้มีอายุการคุ้มครองงานดนตรีกรรมสำหรับนิติบุคคลเป็นเวลา 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นตามมาตรา 16 วรรคท้าย และให้มีอายุการคุ้มครองงานโสตทัศนวัสดุเป็นเวลา 50 ปี นับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นตามมาตรา 18 แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานดนตรีกรรมหรือโสตทัศนวัสดุในระหว่างระยะเวลาดังกล่าวให้ลิขสิทธิ์ที่มีอยู่เป็นเวลา 50 ปี นับแต่ได้มีการโฆษณาครั้งแรกทั้งนี้ตามมาตรา 16 วรรคท้าย และ 18 ดังกล่าว ส่วนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 ให้ความคุ้มครองงานเพลงเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทดนตรีกรรมเช่นกัน แต่ให้ความคุ้มครองแก่แผ่นเสียงและเทปต้นแบบเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานสิ่งบันทึกเสียงโดยให้มีอายุการคุ้มครองงานดนตรีกรรมและงานสิ่งบันทึกเสียงเป็นเวลา 50 ปี เช่นเดียวกับอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมและงานโสตทัศนวัสดุตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ทั้งนี้ตามมาตรา 19 วรรคท้าย และ 21 ฉะนั้น การที่โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตามสัญญาซื้อขายลงวันที่ 1 เมษายน 2518 และขณะที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ในงานเพลงและเทปต้นแบบที่บันทึกเพลงตามคำฟ้องของโจทก์เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม 2542 นั้น โจทก์จึงยังคงมีลิขสิทธิ์ในงานเพลงและเทปต้นแบบนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ แต่ผู้เดียวในงานดนตรีกรรมและสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวซึ่งได้แก่ สิทธิในการทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน สิทธิให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานสิ่งบันทึกเสียง สิทธิที่จะให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น และสิทธิที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นทำซ้ำหรือดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชน หรืออนุญาตให้ผู้อื่นให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานสิ่งบันทึกเสียง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 แห่ง ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 รวมถึงสิทธิในการทำซ้ำเทปต้นแบบดังกล่าวโดยการบันทึกเสียงลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ หรือในรูปแบบใดอันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีกซึ่งรวมทั้งการบันทึกเสียงในรูปของเทปคาสเซตด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์อ้างว่า ตามหนังสือสัญญาซื้อขายดังกล่าวหมายถึงการโอนลิขสิทธิ์เฉพาะการนำเพลงไปบันทึกในรูปแผ่นเสียงเท่านั้น ไม่รวมถึงการนำเพลงไปบันทึกในรูปเทปคาสเซตเนื่องจากในขณะทำสัญญาดังกล่าวในปี 2518 วงการเพลงยังไม่เคยมีการผลิตเทปคาสเซตจำหน่ายนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาดังกล่าวข้อต่อสู้ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แปลความหมายของข้อสัญญาซื้อขายเอาเอง ทั้งเป็นการแปลความหมายที่ไม่ถูกต้องเพราะตามสัญญา ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ในงานเพลงทั้งหมดและเทปต้นแบบที่บันทึกเพลงดังกล่าว มิใช่เป็นการซื้อขายสิทธิในลิขสิทธิ์เฉพาะสิทธิให้นำงานเพลงตามคำฟ้องไปผลิตหรือบันทึกในรูปของแผ่นเสียงเท่านั้น นอกจากนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 มาตรา 9 (1) และ 17 ยังบัญญัติให้ผู้มีลิขสิทธิในงานดนตรีกรรมมีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำดนตรีกรรมนั้นเพื่อให้ใช้ได้ด้วยเครื่องกลอันทำให้เกิดเสียงดนตรีนั้นขึ้นอีก และมีลิขสิทธิ์ในสิ่งซึ่งทำโดยวิธีอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดเสียงซ้ำได้ด้วยเครื่องกลซึ่งหมายถึงสิ่งบันทึกเสียงในรูปแบบอื่น ๆ ที่จะมีในอนาคตด้วย ดังนี้ แม้ในขณะทำสัญญาดังกล่าวในปี 2518 จะยังไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกเสียงเพลงในรูปของเทปคาสเซตดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ก็ตาม แต่สิทธิในลิขสิทธิ์ของโจทก์ที่ได้มาจากการประมูลตามสัญญา ย่อมรวมถึงสิทธิที่จะซ้ำหรือดัดแปลงงานดนตรีกรรม แผ่นเสียง และเทปต้นแบบที่บันทึกเสียงเพลงตามคำฟ้องโดยการบันทึกเสียงเพลงนั้นลงในวัสดุใดหรือทำออกมาในรูปแบบใดที่จะมีในอนาคตซึ่งรวมทั้งเทปคาสเซตด้วย
พิพากษายืน.

Share