คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยบรรยายฟ้องในข้อหานี้เพียงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์กับพวกไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวกเป็นเหตุให้โจทก์กับพวกถูกควบุคมตัวเป็นผู้ต้องหา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง สิทธิเสรีภาพของโจทก์กับพวก เท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จะได้ความตามทางพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีพฤติการณ์ในทางบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวนั้นได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 4 ไม่ควรต้องรับโทษและศาลต้องยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะเห็นว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 มีมูลและสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้วก็ตาม แต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2548)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ร่วมกันยุยงส่งเสริม ใช้ จ้างวาน ช่วยเหลือสนับสนุนให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษโจทก์และบุคคลทั้งสามในความผิดฐานฉ้อโกง อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันควบคุมตัวโจทก์เป็นผู้ต้องหาในวันที่ 8 พฤษภาคม 2541 ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง สิทธิเสรีภาพของโจทก์และบุคคลทั้งสาม เหตุทั้งสี่กรณีเกิดที่แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 83, 86, 91, 137, 157, 172, 173, 174
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 4 มีมูลเฉพาะความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 4 ในข้อหาดังกล่าว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ในกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 4 และประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้ว เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล หรือไม่เป็นความผิดหรือฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ศาลอุทธรณ์จะมีอำนาจยกฟ้องได้หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์เฉพาะส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้แต่เพียงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์กับพวกไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวกเป็นเหตุให้โจทก์กับพวกถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องหา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง สิทธิเสรีภาพของโจทก์กับพวกเท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องเลยว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จะได้ความตามทางพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 มีพฤติการณ์ในทางบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวนั้นได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง” กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 4 ไม่ควรต้องรับโทษและศาลต้องยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 มาด้วยนั้นจึงชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share