แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นนิติบุคคล ตามข้อบังคับของโจทก์ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงให้เป็นไปตามข้อบังคับและตามมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งรวมทั้งให้ฟ้องต่อสู้คดีหรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการมีมติที่ประชุมให้ ณ รองประธานกรรมการเป็นผู้แทนของโจทก์ในการดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสาม ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ เท่ากับว่าโจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีเอง กรณีไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม โดยไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้ ณ ดำเนินการแต่อย่างใด
บ. เป็นเพียงกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่ามีมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์แต่งตั้ง บ. เป็นผู้แทนโจทก์ในกิจการใด ๆ แม้ บ. จะรู้ถึงการตายของ ว. สามีจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 ก็หาใช้เป็นการรับรู้ของโจทก์ไม่ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ประชุมกันเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541 โดยมีวาระการประชุมเกี่ยวกับการตายของ ว. ด้วย ถือได้ว่าโจทก์เพิ่งรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ว. ในวันดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 152,469.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงิน 141,050.64 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การมอบอำนาจให้นายณรงค์ฟ้องคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่มีหนังสือมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งโจทก์ไม่ใช้สิทธิฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่นายวิโรจน์ถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะตามรายงานการประชุมของคณะกรรมการโจทก์ไม่ได้มอบหมายให้นายณรงค์ดำเนินคดีจำเลยทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน152,269.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี
กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นสหกรณ์ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2511 นายวิโรจน์สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของโจทก์ตั้งแต่รับราชการอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2540 นายวิโรจน์ได้ขอกู้ยืมเงินโจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์เช่นกันเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. 5 และ จ. 6 นายวิโรจน์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 หลังจากนั้นวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541 คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีมติให้นายวิโรจน์พ้นจากการเป็นสมาชิก โดยนายวิโรจน์เป็นหนี้โจทก์จำนวน 141,050.64 บาท ซึ่งโจทก์มีหนังสือแจ้งจำนวนหนี้ดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ตามรายงานการประชุมของโจทก์มอบให้นายณรงค์เป็นผู้แทนโจทก์ในการดำเนินคดีทั่วไป การที่นายณรงค์ฟ้องคดีนี้ได้จะต้องได้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นการเฉพาะ เมื่อโจทก์มิได้มีหนังสือมอบอำนาจให้นายณรงค์ฟ้องและดำเนินคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตาม พ.ร.บ. สหกรณ์ พ.ศ. 2511 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่ฟ้องคดีนี้ มาตรา 24 บัญญัติว่า ให้มีคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ จำกัด คณะหนึ่งประกอบด้วยกรรมการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกเป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ จำกัด ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่ง หรือหลายคนทำการแทนก็ได้ ทั้งนี้ ป.พ.พ. มาตรา 66 บัญญัติว่า นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง ซึ่งตามข้อบังคับของโจทก์เอกสารหมาย จ. 2 ข้อ 67 ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงให้เป็นไปตามข้อบังคับและตามมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งรวมทั้งในข้อย่อยที่ (17) ว่า ให้ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ หรือประนีประนอมยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา โดยทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า คณะกรรมการดำเนินการมีมติที่ประชุมครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541 ให้นายณรงค์ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการเป็นผู้แทนของโจทก์ในการดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามเกี่ยวกับหนี้สินของนายวิโรจน์ผู้ตายตามสำเนารายงานการประชุมซึ่งจะเห็นได้ว่า การที่คณะกรรมการดำเนินการได้มอบหมายงานดังกล่าวให้แก่นายณรงค์เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ เท่ากับว่าโจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีเอง โดยมีนายณรงค์กระทำการแทนโจทก์ กรณีจึงไม่ต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามโดยไม่จำต้องมีหนังสือมอบอำนาจให้นายณรงค์ดำเนินการแต่อย่างใด
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่นายบรรเลง กรรมการโจทก์ ได้ไปร่วมพิธีรดน้ำศพนายวิโรจน์ สามีจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 ถือว่าโจทก์ได้รู้ถึงการตายของนายวิโรจน์นับแต่วันดังกล่าวแล้ว โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจำเลยทั้งสามในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม นั้น เห็นว่า ข้อบังคับของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ. 2 ข้อ 61 กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการทั้งหมดสี่สิบห้าคน และข้อ 67 กำหนดให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจดำเนินกิจการทั้งปวงของโจทก์ให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของที่ประชุมใหญ่ การที่นายบรรเลงเป็นเพียงกรรมการคนหนึ่งของโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่ามีมติที่ประชุมใหญ่ของโจทก์แต่งตั้งนายบรรเลงเป็นผู้แทนโจทก์ในกิจการใด ๆ แม้นายบรรเลงรู้ถึงการตายของนายวิโรจน์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2541 ก็หาใช่เป็นการรับรู้ของโจทก์ไม่ ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ประชุมกันเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541 โดยมีระเบียบวาระที่ 7 เสนอเรื่องที่นายวิโรจน์ถึงแก่ความตายเพื่อให้จำหน่ายชื่อจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ตามสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการโจทก์ จึงถือว่าโจทก์เพิ่งรู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของนายวิโรจน์ในวันดังกล่าว การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อกองมรดกของนายวิโรจน์จึงไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.