คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6476/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. การประปานครหลวง พ.ศ. 2510 ซึ่งตาม พ.ร.บ. การประปานครหลวง พ.ศ. 2510 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งการประปาขึ้นเรียกว่า “การประปานครหลวง” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ (2) ผลิต จัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ… (3) ดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์แก่การประปา” จากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายน้ำประปา ทั้งดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการประปาด้วย ซึ่งคำว่า “ผู้ประกอบการค้า” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) เป็นถ้อยคำที่เปลี่ยนแปลงจากถ้อยคำใน ป.พ.พ. มาตรา 165 (1) เดิม ที่ใช้คำว่า “พ่อค้า” ดังนั้น คำว่า “ผู้ประกอบการค้า” จึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “พ่อค้า” แม้โจทก์จะไม่ใช่พ่อค้าแต่ก็ถือว่าเป็นผู้ประกอบการค้าตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แล้ว เมื่อคดีนี้มีการจดหน่วยน้ำประปาหลายครั้ง โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าน้ำประปาได้ตั้งแต่วันที่ทำการจดหน่วยน้ำประปาในแต่ละครั้งตามที่ปรากฏใบเสร็จรับเงินแต่ละฉบับ แต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าน้ำประปาอันเป็นการเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำเมื่อเกินกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. การประปานครหลวง พ.ศ. 2510 มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายน้ำประปา จำเลยเคยเป็นผู้ใช้น้ำประปาของโจทก์ และค้างชำระค่าน้ำประปา ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 90,194.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 67,121.37 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. การประปานครหลวง พ.ศ. 2510 มาตรา 6 บัญญัติว่า “ให้จัดตั้งการประปาขึ้นเรียกว่า “การประปานครหลวง” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้… (2) ผลิต จัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรีและจังหวัดสมุทรปราการ… (3) ดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์แก่การประปา” จากบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายน้ำประปา ทั้งดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการประปาด้วย ซึ่งคำว่า “ผู้ประกอบการค้า” ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) เป็นถ้อยคำที่เปลี่ยนแปลงจากถ้อยคำใน ป.พ.พ. มาตรา 165 (1) เดิม ที่ใช้คำว่า “พ่อค้า” ดังนั้น คำว่า “ผู้ประกอบการค้า” จึงมีความหมายกว้างกว่าคำว่า “พ่อค้า” แม้โจทก์จะไม่ใช่พ่อค้าแต่ก็ถือเป็นผู้ประกอบการค้าตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) แล้ว เมื่อคดีนี้มีการจดหน่วยน้ำประปาหลายครั้งโดยครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องค่าน้ำประปาได้ตั้งแต่วันที่ทำการจดหน่วยน้ำประปาในแต่ละครั้งตามที่ปรากฏในใบเสร็จรับเงินแต่ละฉบับ แต่โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าน้ำประปาอันเป็นการเรียกเอาค่าการงานที่ได้ทำเมื่อเกินกำหนด 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share