คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6276/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ของผู้เสียหายและจำเลยส่อแสดงว่าผู้เสียหายยินยอมไปกับจำเลยและร่วมประเวณีกันยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคหนึ่ง แต่ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายมีอายุ 15 ปีเศษ เมื่อจำเลยพาผู้เสียหายไปและร่วมประเวณีกับผู้เสียหายเช่นนี้ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษหนักกว่า แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยพาบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจารอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษเบากว่า ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคหนึ่ง ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยการใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการใช้มือกดคอผู้เสียหายอย่างแรงจนทำให้ผู้เสียหายอยู่ในภาวะไม่สามารถขัดขืนได้ เหตุทั้งหมดเกิดที่ตำบลหัวหวาย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และตำบลเทพนคร อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91, 276, 284, 310
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายบุญช่วย บิดาของนางสาวอิสรา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง, 284 วรรคหนึ่ง, 310 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 76 ลงโทษจำคุก 2 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดในเวลากลางวัน บริเวณที่เกิดเหตุเป็นบริเวณสถานีรถไฟ หากมีเหตุการณ์ฉุดดึงผู้เสียหายขึ้นรถยนต์ของจำเลยจริงก็ย่อมจะมีผู้อื่นนอกจากผู้เสียหายและเด็กหญิงหทัยชนกซึ่งเป็นญาติผู้เสียหายรู้เห็นเป็นพยานด้วย นอกจากนี้ตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกอนันต์ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้สอบสวนคดีนี้ปรากฏว่าในทางสอบสวนได้ความว่าจำเลยกับผู้เสียหายเป็นคนรักกัน ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายและจำเลยได้ไปเที่ยวน้ำตกคลองลานด้วยกัน โดยในการไปเที่ยวนั้นได้มีการนัดแนะผ่านทางเพื่อนของจำเลยมาก่อน และก่อนที่ผู้เสียหายจะให้ดำเนินคดีนี้นั้นก็ได้มีการเรียกร้องค่าเสียหาย แต่ฝ่ายผู้เสียหายเรียกร้องเป็นจำนวนมากเรื่องจึงตกลงกันไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตามที่โจทก์ฟ้องมาคงมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร และฐานข่มขืนกระทำชำเราหรือไม่ ข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่าในระหว่างที่ผู้เสียหายอยู่ที่บ้านป้าของจำเลยที่จังหวัดกำแพงเพชรนั้น จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ซึ่งในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาจำเลยก็รับว่าในระหว่างนั้นจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่บ้านป้าที่อำเภอเมืองกำแพงเพชรจริงโดยผู้เสียหายยินยอม ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงรับฟังได้ว่าในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ประกอบกับจำเลยและ ผู้เสียหายเคยเป็นคู่รักกัน วันเกิดเหตุจำเลยพาผู้เสียหายไปเที่ยวและจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย พฤติการณ์ส่อแสดงว่าผู้เสียหายยินยอมไปกับจำเลยและร่วมประเวณีกัน พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำชำเรา ผู้เสียหายโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ ผู้เสียหายเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่นทั้งมิใช่การพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง และมาตรา 284 วรรคหนึ่ง แต่ขณะเกิดเหตุ ผู้เสียหายมีอายุ 15 ปีเศษเมื่อจำเลยพาผู้เสียหายไปและกระทำชำเราผู้เสียหายเช่นนี้จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคหนึ่ง แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยพาหญิงไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 284 แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยพาบุคคลอายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี ไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 283 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งมีโทษเบากว่าศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคหนึ่ง ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคหนึ่ง ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 76 จำคุก 2 ปี ปรับ 6,000 บาท คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท พิเคราะห์รายงานของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นคนดี อาศัยอำนาจตาม ป.อ. มาตรา 56 จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนด 1 เดือน ทั้งนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 107 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6

Share