แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในระหว่างฎีกา ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ในความผิดข้อหากระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก อันเป็นความผิดอันยอมความกันได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนข้อหาบุกรุกตามมาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมความกันได้นั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้กำหนดโทษแก่จำเลย เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทกับข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา จึงกำหนดโทษเฉพาะข้อหากระทำชำเราซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น และอัตราโทษตามมาตรา 365 นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนในส่วนการกระทำความผิดตามศาลชั้นต้น แม้จะยังไม่ได้กำหนดโทษแก่จำเลย แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่อาจกำหนดโทษเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 365 ได้ ซึ่งคดีอาจจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษในข้อหาบุกรุกแก่จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 276 , 364 , 365 , 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก , 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานข่มขืนกระทำชำเราซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 6 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า มีดของกลางให้คืนแก่ผู้เสียหาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ต่อมาวันที่ 7 มกราคม 2548 ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา ส่วนข้อหาบุกรุกผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความจำเลยปรากฏตามรายงานกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 19 มกราคม 2548
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดข้อหาข่มขืนกระทำชำเราตาม ป.อ. มาตรา 276 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความกันได้ เมื่อผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์ข้อหานี้ในระหว่างฎีกา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ส่วนข้อหาบุกรุก ตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ซึ่งมิใช่ความผิดอันยอมกันได้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังมิได้กำหนดโทษแก่จำเลย เนื่องจากเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทกับข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา จึงกำหนดโทษเฉพาะข้อหาข่มขืนกระทำชำเราซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดเท่านั้น และอัตราโทษตามมาตรา 365 นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนในส่วนการกระทำความผิดตามศาลชั้นต้น แม้จะยังไม่ได้กำหนดโทษแก่จำเลย แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่อาจกำหนดโทษเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 365 ได้ ซึ่งคดีอาจจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษในข้อหาบุกรุกแก่จำเลย
ให้จำหน่ายคดีข้อหาข่มขืนกระทำชำเราออกจากสารบบความ และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษแก่จำเลยในข้อหาบุกรุกต่อไป.