คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีสรรพสามิตต่อโจทก์ โจทก์ยื่นคำคัดค้าน จำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านการประเมินดังกล่าว ผลจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทำให้โจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องชำระภาษีสรรพสามิตตามการประเมินอีก เมื่อไม่มีการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิต จึงไม่มีการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่โจทก์จะฟ้องคัดค้านต่อศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้แก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่ถูกยึดไว้ในระหว่างดำเนินคดี เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 161 (1) โจทก์จึงมีสิทธิขอรับรถยนต์ของกลางคืนตามมาตรา 123 วรรคสอง การที่เจ้าพนักงานไม่คืนรถยนต์ให้โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอคืนรถยนต์ของกลางได้ตามมาตรา 96
เมื่อเจ้าพนักงานมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้จนกว่าพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 123 การที่เจ้าพนักงานไม่คืนรถยนต์ของกลางให้โจทก์ตามที่โจทก์ขอหลังจากที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์แล้ว การยึดรถยนต์ของโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์อันควรได้จากการใช้สอยรถยนต์พิพาท จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้แก้คำวินิจฉัยอุทธรณ์คำวินิจฉัยคำคัดค้านการประเมินภาษีสรรพสามิตของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เลขที่ 1/2543 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2543 เป็นว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ผ – 4340 สุพรรณบุรี เป็นรถยนต์กระบะ มีเลขเครื่องยนต์ 2 L – 1659950 มาแต่ต้น ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2538 โจทก์ดัดแปลงรถยนต์กระบะให้เป็นรถยนต์นั่งในภายหลังและมิให้ใช้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพาสามิต (ฉบับที่ 50) ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 มาใช้บังคับย้อนหลังแก่รถยนต์พิพาท ขอให้จำเลยที่ 2 รับชำระภาษีตามมูลค่าจากการดัดแปลงรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ผ – 4340 สุพรรณบุรี จากโจทก์โดยถือเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงและค่าวัสดุอุปกรณ์จำนวน 50,050 บาท เป็นมูลค่าจากการดัดแปลง และให้คืนรถยนต์พิพาทในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์โดยเร็ว ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 140,000 บาท และจำนวนเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะคืนรถยนต์คันพิพาทในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จับกุมโจทก์ และยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์เป็นของกลางกล่าวหาว่ามีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าที่มิได้เสียภาษีสรรพสามิตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 161 แต่ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ โจทก์จึงไปขอชำระภาษีสรรพสามิตรถยนต์พิพาทส่วนที่ดัดแปลงต่อเติมและขอรถยนต์พิพาทคืน จำเลยที่ 2 ไม่รับชำระภาษีและไม่คืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ แต่ได้แจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์พิพาทและเครื่องปรับอากาศที่ติดกับรถยนต์พิพาท ตามมูลค่าของสินค้าตามอัตราที่ระบุไว้ในกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต โจทก์คัดค้านการประเมินต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน โจทก์จึงอุทธรณ์คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานคณะกรรมการ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสรรพสามิตดังที่เจ้าพนักงานประเมิน จึงให้เพิกถอนการประเมิน และเพิกถอนคำวินิจฉัยคำคัดค้านการประเมิน คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ในปัญหานี้ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 96 บัญญัติว่า “เมื่อมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยฟ้องคดีต่อศาลภายในสามสิบวัน…” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีสรรพสามิตต่อโจทก์และโจทก์ยื่นคำคัดค้านการประเมินภาษีสรรพสามิตดังกล่าว จำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้าน แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยคำคัดค้านการประเมินดังกล่าว กรณีจึงไม่มีการประเมินหรือคำวินิจฉัยคำคัดค้านการประเมินภาษีสรรพสามิตซึ่งโจทก์จะต้องคัดค้านผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก เพราะผลจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวทำให้โจทก์ไม่มีหน้าที่จะต้องชำระภาษีสรรพสามิตตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินอีก โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยขอให้แก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่เพิกถอนการประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยคำคัดค้านการประเมินเป็นอย่างอื่นได้ ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่าโจทก์เป็นผู้ดัดแปลงรถยนต์พิพาท โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องเสียภาษีสรรพสามิตตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 144 เบญจ นั้น เห็นว่า เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมิได้ประเมินให้โจทก์ชำระภาษีสรรพสามิตในฐานะเป็นผู้ดัดแปลง ดังนั้น จึงไม่มีการประเมินภาษีสรรพสามิตในส่วนนี้ที่โจทก์จะคัดค้านหรืออุทธรณ์การประเมินและทั้งย่อมไม่มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในส่วนนี้ที่โจทก์จะฟ้องคัดค้านต่อศาลคัดค้านคำวินิจฉัยได้ตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 ด้วยเช่นกัน คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอคืนรถยนต์พิพาทหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์พิพาท เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ยึดรถยนต์พิพาทเป็นของกลางในการดำเนินคดีต่อโจทก์ข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 161 (1) แต่ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าว โจทก์ในฐานะเจ้าของจึงมีสิทธิขอรับรถยนต์พิพาทคืนตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 123 วรรคสอง เมื่อโจทก์ขอรับรถยนต์พิพาทคืนตามสิทธิดังกล่าว การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ยอมคืนรถยนต์พิพาท และประเมินภาษีสรรพสามิตต่อโจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งในปัญหาอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำคัดค้าน และยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องขอคืนรถยนต์พิพาทของโจทก์ไว้พิจารณา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องต่อศาลได้ตามบทบัญญัติในมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527
ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 123 อำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นของกลางในคดีเกี่ยวกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตย่อมหมดไปตั้งแต่เมื่อพนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิด ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ในความผิดตามมาตรา 161 (1) แห่ง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 โจทก์จึงไม่ใช่เป็นผู้กระทำความผิด อันจะต้องมีหน้าที่เสียภาษีสำหรับรถยนต์พิพาทตามความในมาตรา 163 และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ได้วินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินระบุว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่จึงย่อมไม่อาจอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 140 ยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์ไว้เพื่อบังคับชำระภาษีได้อีก การยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์ผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีไว้ จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมายและทำให้โจทก์ต้องเสียหายขาดประโยชน์อันควรได้จากการใช้สอยรถยนต์พิพาท จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าวต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 คืนรถยนต์พิพาทหมายเลขทะเบียน ผ – 4340 สุพรรณบุรี แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2543 จนกว่าจะคืนรถยนต์พิพาทดังกล่าวแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share