คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3668/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระยะเวลา 30 วัน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง อันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากร ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร มาตรา 17 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ดังนั้น เมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าคำร้องของโจทก์ที่ขอขยายระยะเวลามีพฤติการณ์พิเศษ ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจที่จะอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องจำเลยออกไปได้
โจทก์สามารถเพิ่มทุนได้ด้วยการออกหุ้นใหม่ โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1220 เมื่อมีมติพิเศษให้เพิ่มทุนแล้ว โจทก์ยังอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่จะต้องไปยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเพิ่มทุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1228 ดังนั้น จึงต้องถือว่าวันที่ซึ่งนายทะเบียนรับจดทะเบียนเป็นวันที่โจทก์เพิ่มทุนและรับชำระเต็มมูลค่าหุ้น
โจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยมิได้หักค่าใช้จ่ายในการ ดำเนินงานและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่าเจ้าพนักงานประเมินประเมินไม่ชอบ ไม่นำค่าใช้จ่ายมารวมเป็นต้นทุนขายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ส่งหลักฐานรายจ่ายในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ทั้งเจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่างมิได้โต้แย้งหรือปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารนั้น จึงเชื่อได้ว่าเอกสารดังกล่าวแสดงรายจ่ายอันแท้จริงของโจทก์ เมื่อจำเลยไม่นำค่าใช้จ่ายตามรายการดังกล่าวไปหักให้ย่อมเป็นการไม่ชอบ การประเมินภาษีเงินได้และคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.๑/๑๐๑๗/๒/๑๐๐๒๔๖ และ ต.๑/๑๐๑๗/๒/๑๐๐๒๔๗ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๘ และหนังสือแจ้งการเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิที่ กค.๐๘๐๗/๑๗๙๐ ลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ ของเจ้าพนักงานประเมิน และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ๑/๒๕๔๒/สภ.๑ (กม.๒), ๒/๒๕๔๒/สภ.๑ (กม.๒) และ ๓/๒๕๔๒/สภ.๑ (กม.๒) ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๘ ของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ และให้งดหรือลดเบี้ยปรับ เงินเพิ่มตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินภาษีและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ทั้ง ๒ ฉบับ ให้ทุเลาการบังคับคดีขณะดำเนินคดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุดและให้โจทก์จัดทำบัญชีงบดุลใหม่ตามเกณฑ์สิทธิ โดยให้โจทก์มีสิทธินำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคือ ค่าโฆษณา ค่าออกแบบอาคาร ค่าธรรมเนียมเงินกู้และจำนอง ค่าดอกเบี้ย ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๒ และปี ๒๕๓๓ มาหักเป็นค่าใช้จ่ายและให้จำเลยคำนวณภาษีเอาแก่โจทก์ โดยถือคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.๓๕/๒๕๓๖ เป็นเกณฑ์พิจารณา โดยไม่คิดเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนสุทธิของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๔ และปี ๒๕๓๕ เสียใหม่
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.๑/๑๐๑๗/๒/๑๐๐๒๔๖ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๘ และแก้ไขคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ๑/๒๕๔๒ สภ.๑ (กม.๒) ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๘ ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นว่าสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๒ ให้โจทก์ชำระค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน ๗๓,๕๐๐.๑๓ บาท พร้อมเบี้ยปรับ ๑ เท่า ตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๒๒ และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสีย และให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ ต.๑/๑๐๑๗/๒/๑๐๐๒๔๗ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๘ และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ ๒/๒๕๔๒ สภ.๑ (กม.๒) ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๘ ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า… มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๑ โจทก์จะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดเวลา ๓๐ วัน นับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๓๐ (๒) ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นฟ้องภายในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๒ แต่ในวันดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลภาษีอากรกลางขอขยายระยะเวลาฟ้องคดี ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องออกไปมีกำหนด ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๒ โจทก์จึงมีอำนาจที่จะฟ้องคดีได้จนถึงวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ตามที่ศาลอนุญาต แต่ปรากฏว่าวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ตรงกับวันเสาร์หยุดราชการ และวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ตรงกับวันอาทิตย์หยุดราชการเช่นกัน โจทก์จึงมีอำนาจที่จะฟ้องในวันจันทร์ที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นวันเปิดทำการได้ ที่จำเลยอ้างว่าศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจที่จะขยายเวลาตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๓๐ (๒) นั้น เห็นว่า ระยะเวลา ๓๐ วัน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๓๐ (๒)เป็นระยะเวลาเกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป. รัษฎากร ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๑๗ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๒๓ ดังนั้น เมื่อศาลภาษีอากรกลางเห็นว่าคำร้องของโจทก์ที่ขอขยายระยะเวลามีพฤติการณ์พิเศษ ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจที่จะอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ดังกล่าวอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องจำเลยออกไปได้ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์จำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยข้อที่สองว่า การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ๒๕๓๒ และปี ๒๕๓๓ ของเจ้าพนักงานประเมินเลขที่ ต.๑/๑๐๑๗/๒/๑๐๐๒๔๖ และ ต.๑/๑๐๑๗/๒/๑๐๐๒๔๗ และคำวินิจฉัย อุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ ๑/๒๕๔๒ สภ.๑ (กม.๒) และ ๒/๒๕๔๒ สภ.๑ (กม.๒) ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์สามารถเพิ่มทุนได้ด้วยการออกหุ้นใหม่ โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๒๐ เมื่อมีมติพิเศษให้เพิ่มทุนแล้ว โจทก์ยังอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่จะต้องมีหน้าที่ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อเพิ่มทุนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๒๒๘ ด้วย เพื่อให้บุคคลทั่วไปสามารถตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงได้ ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายบังคับให้โจทก์ต้องไปจดทะเบียนเสียก่อนจึงต้องถือว่าวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นวันที่นายทะเบียน รับจดทะเบียนเป็นวันที่โจทก์เพิ่มทุนและรับชำระเต็มมูลค่าหุ้น หาใช่วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๒ ดังที่จำเลยอ้างไม่ สำหรับกรณีการคำนวณดอกเบี้ยรับถือเป็นรายได้นั้น ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าโจทก์จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งทั้งโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย โจทก์จึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวตามที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยต่อไปว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิฉัยให้หักค่าใช้จ่ายในบัญชีต้นทุนขายเพื่อการคำนวณกำไรสุทธิ โดยให้หักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับดอกเบี้ยเงินกู้โครงการ ค่าตรวจแบบอาคาร ค่าจดทะเบียนจำนอง ค่าโฆษณาและค่าโสหุ้ยต่าง ๆ ในปี ๒๕๓๒ และปี ๒๕๓๓ ถูกต้องหรือไม่ ปัญหานี้เดิมโจทก์บันทึกรายได้รายจ่ายโดยใช้เกณฑ์เงินสด มิได้ใช้เกณฑ์สิทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๖๕ วรรคสอง แต่นางสาวพรพิศ เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษี ๖ ของจำเลยได้ตรวจสอบภาษีแล้วทำการปรับปรุงรายได้รายจ่ายใหม่โดยใช้เกณฑ์สิทธิ ซึ่งโจทก์ยินยอมให้ใช้เกณฑ์สิทธิได้ตามที่จำเลยต้องการ ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าในชั้นตรวจสอบโจทก์ไม่ได้ส่งหลักฐานค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าดอกเบี้ยเงินกู้ในโครงการ ค่าจดทะเบียนจำนองที่ดิน ค่าโฆษณา ค่าใบอนุญาตตรวจสอบแบบอาคารและค่าโสหุ้ยต่าง ๆ รวม ๕ รายการ มาแสดง เจ้าพนักงานของจำเลย จึงไม่สามารถคำนวณต้นทุนขายได้จึงต้องคำนวณจากประมาณการนั้น เห็นว่า ในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ของ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โจทก์ได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายรวม ๕ รายการ เพื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้ว แม้ไม่ได้โต้แย้งในเรื่องของต้นทุนขายว่าการคำนวณต้นทุนขายของเจ้าพนักงานประเมิน ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร จำเลยก็ยังมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่โจทก์ส่งมานั้นสามารถนำมาคำนวณเป็นรายจ่ายในบัญชีต้นทุนขายได้หรือไม่อย่างไรเสียก่อนตามหลักเกณฑ์สิทธิตามมาตรา ๖๕ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากรและคำสั่งกรมสรรพากรที่ ทป.๑/๒๕๒๘ นอกจากนี้ยังปรากฏว่า นางสาววาสนา เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบภาษี ๖ ของจำเลยได้ทำรายงานการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มารวมเป็นต้นทุนขายเพื่อคำนวณกำไรสุทธิ หาใช่ว่าโจทก์มิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการคำนวณต้นทุนขายตามที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์จำเลยไม่ ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้ส่งหลักฐานรายจ่ายทั้งห้ารายการในชั้นพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่างก็มิได้โต้แย้งหรือปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงของเอกสารนั้น จึงเชื่อได้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่แสดงถึงรายจ่ายอันแท้จริงของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๒ และปี ๒๕๓๓ เมื่อจำเลยได้นำค่าใช้จ่ายทั้งห้ารายการไปหักให้ย่อมเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น การประเมินภาษีเงินได้และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยยอมให้หักค่าใช้จ่ายทั้งห้ารายการเพื่อคำนวณกำไรสุทธิของโจทก์จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ .

Share