แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีอาญา อัยการโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ในคดีนี้ซึ่งครอบครองดูแลรักษาสินค้าของผู้เสียหาย (จำเลยในคดีนี้) แล้วโจทก์ได้เบียดบังเอาไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และมีคำขอให้โจทก์คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไปเป็นเงิน 310,145 บาทพร้อมดอกเบี้ย แต่คดีนี้นอกจากจำเลยจะอ้างว่าโจทก์ร่วมกับบุคคลอื่นยักยอกทรัพย์ของจำเลยไปแล้ว จำเลยยังอ้างในฟ้องแย้งด้วยว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์สินของจำเลย โจทก์มีหน้าที่จะต้องส่งคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่จำเลย แต่โจทก์มิได้ส่งคืนให้กลับนำไปมอบให้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำผิดต่อสัญญาจ้างแรงงาน ดังนี้ เห็นได้ว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้นมาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลละเมิด แต่คดีนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์ทำผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายรวมอยู่ด้วย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องคดีอาญา แต่ก็วินิจฉัยเพียงว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะฟังว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) มีส่วนร่วมรู้เห็นกับผู้ที่มารับสินค้า ซึ่งเท่ากับฟังว่ายังไม่เป็นความผิดฐานยักยอกเท่านั้น โดยยังมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้จำเลยได้รับความเสียหายดังที่จำเลยถือเป็นข้ออ้างในคดีนี้หรือไม่ ที่จำเลยฟ้องแย้งจึงมิใช่เป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้าง ทำหน้าที่พนักงานขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ ๑๒,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยติดต่อกันครบสิบปีขึ้นไป จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๓๐๐ วัน และระหว่างทำงานกับจำเลย จำเลยหักเงินสะสมจากโจทก์ไว้และตกลงจะคืนให้โจทก์เมื่อออกจากงานพร้อมเงินสะสมส่วนของจำเลยอีกหนึ่งเท่า นอกจากนี้การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ยักยอกสินค้าจำเลยซึ่งไม่เป็นความจริง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ๒๐,๔๐๐ บาท ค่าชดเชย ๑๒๐,๐๐๐ บาท เงินสะสม ๑๖๐,๐๐๐ บาท และค่าเสียหาย ๑,๗๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ซึ่งมีหน้าที่ครอบครองดูแลรักษาสินค้าของจำเลย แทนที่จะนำสินค้าจำนวนดังกล่าวคืนแก่จำเลยตามหน้าที่ แต่โจทก์เจตนาหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยร่วมกับบุคคลอื่นยักยอกไปเป็นประโยชน์ของโจทก์หรือบุคคลอื่น ซึ่งผิดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชารวมทั้งระเบียบเกี่ยวกับการส่งสินค้าอันเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ และการเลิกจ้างดังกล่าวก็เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากจำเลย นอกจากนี้โจทก์ก็ไม่เคยสมัครเข้ากองทุนเงินสะสม และโจทก์ไม่เคยถูกหักเงินเดือนเพื่อนำเข้ากองทุนสะสมแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสะสม และจากการกระทำของโจทก์ยังทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์จ่ายเงินค่าเสียหาย ๓๑๐,๑๔๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าโจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายขายซึ่งมีหน้าที่ดูแลสินค้าและพนักงานขายของจำเลยที่ประมาทเลินเล่อจงใจละเว้นมิได้เอาใจใส่ดูแลทำให้สินค้าจำเลยดังกล่าวสูญหายซึ่งเป็นความผิดของจำเลยเอง จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์โดยกล่าวหาและแจ้งความกับฟ้องร้องดำเนินคดีโจทก์ในข้อหายักยอกทรัพย์ ซึ่งศาลแขวงพระนครใต้มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว นอกจากนี้ที่จำเลยฟ้องแย้งก็เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ในคดีอาญาที่ศาลแขวงพระนครใต้และคดีถึงที่สุดแล้ว เพราะคดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้มีคำขอแทนจำเลยให้โจทก์คืนเงินหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอก และฟ้องแย้งก็เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว ต้องห้ามมิให้ฟ้องอีกตามมาตรา ๑๔๘ แห่ง ป.วิ.พ. ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์จ่ายเงินค่าเสียหายแก่จำเลยเป็นเงิน ๓๐๗,๘๕๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลย กล่าวหาว่ายักยอกทรัพย์และขอให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไปแก่ผู้เสียหาย (จำเลยในคดีนี้) โดยจำเลยคดีนี้ได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย คดีอาญาดังกล่าวศาลแขวงพระนครใต้พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว เห็นว่า ตามฟ้องในคดีอาญาอัยการโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ในคดีนี้ได้ครอบครองดูแลรักษาสินค้าของผู้เสียหาย (จำเลยคดีนี้) แล้วโจทก์ได้เบียดบังเอาสินค้าดังกล่าวของผู้เสียหาย (จำเลยคดีนี้) ไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และมีคำขอให้โจทก์คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แต่คดีนี้นอกจากจำเลยจะอ้างว่าโจทก์ร่วมกับบุคคลอื่นยักยอกทรัพย์ของจำเลยไปแล้ว จำเลยยังอ้างในฟ้องแย้งด้วยว่า โจทก์ครอบครองทรัพย์สินของจำเลย โจทก์มีหน้าที่จะต้องส่งคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่จำเลยตามระเบียบ แต่โจทก์ไม่นำสินค้าคืนให้แก่จำเลยโดยไปมอบสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นซึ่งโจทก์อ้างว่าไม่รู้จัก จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำผิดต่อสัญญาจ้างแรงงาน และขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน ๓๑๐,๑๔๕ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่จำเลย ดังนี้ จะเห็นได้ว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วนแพ่งนั้นมาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์ทำผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายรวมอยู่ด้วย และแม้ศาลแขวงพระนครใต้จะพิพากษายกฟ้องคดีอาญาก็ตาม แต่ศาลแขวงพระนครใต้ก็วินิจฉัยเพียงว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นกับผู้ที่มารับสินค้า ทั้งพนักงานสอบสวนไม่ได้สอบสวนขยายผลให้ได้ความกระจ่างในเรื่องนี้ ประกอบกับโจทก์ไม่มีประวัติเสียหาย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้โจทก์ ซึ่งเท่ากับฟังว่าการกระทำของโจทก์ที่ส่งมอบสินค้าให้แก่บุคคลอื่นที่โจทก์ไม่รู้จักนั้นยังไม่เป็นความผิดฐานยักยอกเท่านั้น โดยศาลแขวงพระนครใต้ยังมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้จำเลยได้รับความเสียหายดังที่จำเลยถือเป็นข้ออ้างในคดีนี้หรือไม่ ที่จำเลยฟ้องแย้งจึงมิใช่เป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางชอบแล้ว
พิพากษายืน.