แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุในฐานะพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยได้พูดแนะนำ พ. เจ้าของรถคู่กรณีให้เรียกร้องค่าเสียเวลาหรือค่าเสียหายที่ต้องจ่ายเป็นค่าโดยสารรถแท็กซี่ระหว่างซ่อมรถจำนวน 2,500 บาท จากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งและขอส่วนแบ่งจำนวน 500 บาท ซึ่งแม้จะกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ แต่โจทก์กระทำในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุซึ่งเป็นงานที่ทำให้แก่จำเลย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยอาศัยโอกาสในการทำงานกับจำเลย ทำให้ลูกค้าไม่เชื่อถือและย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงทางทำมาหาได้ของจำเลยโดยตรง จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามมาตรา 67 และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 วรรคท้าย ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 583
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยออกใบสำคัญแสดงการทำงานแก่โจทก์ด้วย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน ๘๙,๘๗๓.๔๗ บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน ๑๕,๐๔๖.๗๙ บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน ๗๔,๘๒๖.๖๘ บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๔๔) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรงหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุในฐานะพนักงานของบริษัทประกันภัยจำเลยพูดแนะนำนายพงษ์ธรรมเจ้าของรถคู่กรณีให้เรียกร้องค่าเสียเวลาหรือค่าเสียหายที่ต้องจ่ายเป็นค่าโดยสารรถแท็กซี่ระหว่างซ่อมรถจำนวน ๒,๕๐๐ บาท จากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง และขอส่วนแบ่งจำนวน ๕๐๐ บาท นั้น แม้จะเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ เพราะโจทก์มีหน้าที่ประเมินความเสียหายเฉพาะรถยนต์คู่กรณีเท่านั้น ไม่มีอำนาจหน้าที่ประเมินค่าเสียเวลาหรือค่าเสียหายที่ต้องจ่ายเป็นค่าโดยสารรถแท็กซี่ด้วยก็ตาม แต่โจทก์กระทำการดังกล่าวในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ อันเป็นงานที่ทำให้แก่จำเลย จึงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยอาศัยโอกาสในการทำงานกับจำเลย ทำให้ลูกค้าไม่เชื่อถือและร้องเรียนขอให้ลงโทษทางวินัยแก่โจทก์ ย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงทางทำมาหาได้ของจำเลยโดยตรง จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีที่ร้ายแรง จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ (๔) ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามมาตรา ๑๗ วรรคท้าย ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา ๕๘๓ และไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตามมาตรา ๖๗ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีไม่ร้ายแรงและพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินดังกล่าวแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.