แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 บรรพ 5 และบรรพ 6 แล้ว แม้จะมีบทบัญญัติมาตรา 1586 บัญญัติว่า “บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม ฯลฯ” และมาตรา 1627 บัญญัติไว้ด้วยว่า “ บุตรบุญธรรมให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้” ก็ตาม แต่บุตรบุญธรรมในบทบัญญัติดังกล่าวก็หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1585 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น การที่ผู้ตายรับผู้คัดค้านที่ 1 มาเลี้ยงอย่างบุตรบุญธรรมทั้งไปแจ้งต่อกำนันว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2498 ว่า เป็นบุตร แม้จะกระทำก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 แต่ก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พุทธศักราช 2477 ทั้งการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้น จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 การที่ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 2 แจ้งการเกิดของผู้คัดค้านที่ 1 ว่าเป็นบุตรต่อกำนันตำบลโคกปีบ จึงมิใช่เป็นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย อันจะถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมิใช่ทายาทหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอ ขอให้มีคำสั่งตั้งนายชาญศักดิ์ บุญมี เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอหรือมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางทองห่อ สิงห์ทน ผู้ตาย และให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 มีว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตายตามกฎหมายในอันที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาว่า ผู้ตายนำผู้คัดค้านที่ 1 มาเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมก่อนที่พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 จะใช้บังคับ จึงนำมาตรา 1585 (มาตรา 1598/27 ปัจจุบัน) มาใช้บังคับไม่ได้ แม้เจ้ามรดกซึ่งเป็นผู้รับบุตรบุญธรรมมิได้จดทะเบียนรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 (มาตรา 1598/27 ปัจจุบัน) ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ยังคงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย เห็นว่า เมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2477 บรรพ 5 และบรรพ 6 แล้ว แม้จะมีบทบัญญัติมาตรา 1586 บัญญัติว่า “บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม ฯลฯ” และมาตรา 1627 บัญญัติไว้ด้วยว่า “
บุตรบุญธรรมให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้” ก็ตาม แต่บุตรบุญธรรมในบทบัญญัติดังกล่าวก็หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1585 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น การที่ผู้ตายรับผู้คัดค้านที่ 1 มาเลี้ยงอย่างบุตรบุญธรรมทั้งไปแจ้งต่อกำนันว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2498 ว่า เป็นบุตรแม้จะกระทำก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 แต่ก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 พุทธศักราช 2477 ทั้งการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมนั้นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 โดยผู้รับบุตรบุญธรรมต้องร้องขอต่อนายทะเบียนเพื่อขอให้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ซึ่งนายทะเบียนผู้มีอำนาจหน้าที่ในการจดทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมคือ ฯลฯ ผู้อำนวยการเขต นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอ ผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 ประกอบกฎกระทรวงมหาดไทย ออกตามความในพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 ข้อ 2 วรรคสอง ดังนั้น การที่ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 2 แจ้งการเกิดของผู้คัดค้านที่ 1 ว่าเป็นบุตรต่อกำนันตำบลโคกปีบ จึงมิใช่เป็นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย อันจะถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมิใช่ทายาทหรือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง สำหรับปัญหาตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 ฎีกาอ้างว่าได้จัดการทรัพย์สินและครอบครองทรัพย์สินร่วมกับผู้ตายทำนองว่ามีกรรมสิทธิ์ร่วมนั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้ตั้งประเด็นดังกล่าวไว้ในคำคัดค้าน เพิ่งมากล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้ ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง จึงถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยยกคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.