คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 219/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ขายที่ดินทำทางในที่ของตนให้บรรดาผู้ซื้อที่ดินของตนใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วนั้นย่อมถือว่าเป็นทางภาระจำยอมเมื่อผู้ขายไปปลูกเรือนลงในทางนี้เสียครึ่งหนึ่ง ทำให้ใช้ทางไม่สดวกเหมือนเช่นเดิมอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสดวก ซึ่งต้องด้วยข้อห้ามตาม ป.ม.แพ่งมาตรา 1390 เจ้าของที่ดินจึงต้องรับผิด
คำว่า ” อาศัยใช้” ทางเดินไม่หมายความว่า เป็นการอาศัยสิทธิเสมอไป อาจเป็นภาระจำยอมก็ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ตรอกพระโลหะ กว้างประมาณ ๖ เมตร เป็นที่ของจำเลย แต่ตกอยู่ในภาวะจำยอมมากว่า ๒๖ ปีแล้ว โจทก์และเจ้าของที่ดินซึ่งอยู่ติดกับตรอกนี้ได้ใช้ตรอกนี้เป็นทางจราจรมาช้านาน เพราะไม่มีทางอื่นออก บัดนี้จำเลยได้แกล้งปลูกเรือนขวางตรอกเสียกึ่งหนึ่ง เป็นเหตุให้ภาระจำยอมเสื่อมความสดวกเป็นอันมาก จึงขอให้จำเลยรื้อเรือนออกไปให้พ้นภาระจำยอม
จำเลยต่อสู้ว่า ให้โจทก์อาศัยเดินและใช้รถยนตร์เข้าออกในที่ดินของจำเลยไปสู่ทางสาธารณะเท่านั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทำให้ภาระจำยอมเสื่อมความสดวก จึงให้จำเลยรื้อเรือนไปให้พ้นทาง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในข้อที่คัดค้านว่าฟ้องเคลือบคลุมนั้น เห็นว่าฟ้องของโจทก์แสดงความประสงค์แจ้งขัดว่า ที่พิพาทตกอยู่ในภาระจำยอม แต่การที่กล่าวในตอนท้ายว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมไม่มีทางอื่นออกอีกนั้น เห็นได้ว่าเป็นการกล่าวเพิ่มเติมประกอบเหตุ หาเป็นการขัดกันไม่ ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
ส่วนข้อที่ว่า ที่รายพิพาทจะตกอยู่ใต้ภาระจำยอมหรือไม่นั้นแม้จำเลยจะยึดถือเอาคำแถลงของโจทก์ประโยคสุดท้ายว่า “ที่จำเลยทำทางภาระจำยอมขึ้นนี้ เพื่อประโยชน์แก่โจทก์และผู้ซื้อที่ดินของจำเลยคนอื่นจะได้อาศัยใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ” ซึ่งเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าอาศัยแล้ว ภาระจำยอมก็อาจมิบังเกิดขึ้น
ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ข้อความในประโยคต้น ๆ ประกอบกับคำแถลงของโจทก์จำเลยในคราวก่อน พร้อมทั้งคำพยานหลักฐานและเหตุผลในสำนวนแล้ว จะเห็นได้ชัดว่ามิได้มีความหมายดังจำเลยเข้าใจ เพราะโจทก์แถลงยืนยันว่า ที่จำเลยทำทางภาระจำยอมนี้ขึ้น ก็เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ และผู้ซื้อที่ดินของจำเลยคนอื่นจะได้ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ อันเป็นการยืนยันว่า ทางรายนี้มีภาระจำยอม และภาระจำยอมนี้บังเกิดขึ้นจากการที่โจทก์และผู้อื่นซื้อที่ดินจากจำเลย ๆ จึงเปิดทางเดินให้ เพราะมิฉะนั้นไม่มีทางออก ภาระจำยอมนี้ก่อขึ้นโดยนิติกรรมระหว่างผู้ซื้อที่ดินและผู้ขายที่ดิน มิใช่ลักษณะของการให้อาศัยสิทธิ อันเป็นการให้เปล่าฝ่ายเดียว แม้โจทก์จะใช้คำว่า ” อาศัย” ประกอบเข้ากับคำว่า “ใช้” กลายเป็น “อาศัยใช้” ก็เป็นความหมายส่วนหนึ่งแห่ง “กิริยา” มิใช่หมายถึงลักษณะแห่งการอาศัยตามนัยแห่งกฎหมายหรืออาศัยสิทธิ
เมื่อฟังว่าเป็นทางภาระจำยอม จำเลยปลูกเรือนลงในทางพิพาทเสียครึ่งหนึ่ง ทำให้ใช้ทางไม่สดวกเหมือนเช่นเดิม อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไป หรือเสื่อมความสดวก ซึ่งต้องด้วยข้อห้ามตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๑๓๙๐ จำเลยจึงต้องรับผิด
จึงพิพากษายืน

Share