คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7645/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ล้วนแต่มีความหมายแสดงให้เห็นได้โดยแจ้งชัดว่าเป็นกรณีการใช้ดุลยพินิจในการทำคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามตามอำนาจหน้าที่ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพียงแต่คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามไม่เป็นไปตามทิศทางที่โจทก์ประสงค์เท่านั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายหรือจำเลยทั้งสามได้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันจะถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 , 421
การฟ้องขอให้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ จะกระทำได้ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มิได้บัญญัติให้อำนาจบุคคลใดฟ้องเช่นนั้นได้ โจทก์จะอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 4 อันเป็นบททั่วไปมาเป็นมูลฐานฟ้องขอให้คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครนายก เมื่อปี ๒๕๓๘ และปี ๒๕๓๙ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ จำเลยทั้งสามเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมีอคติ มิชอบด้วยกฎหมาย จงใจกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยทั้งสามได้ทำคำวินิจฉัยในส่วนของตนขัดต่อรัฐธรรมนูญ ให้โจทก์พ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง ๆ ที่จำเลยทั้งสามทราบดีว่า คำร้องของนายสิทธิชัย กิตติธเนศวร กับพวก ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องสมาชิกภาพของโจทก์นั้นเป็นการก้าวก่ายอำนาจของศาลยุติธรรมที่กำลังพิจารณากรณีที่โจทก์ถูกบุคคลอื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันอยู่ ทั้งเรื่องคุณสมบัติเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาของโจทก์ก็มิใช่คุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ได้รับเลือกตั้งในปี ๒๕๓๙ แต่เป็นคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งบัญญัติให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและให้ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาด ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องสมาชิกภาพของโจทก์ อนึ่ง จำเลยทั้งสามได้ทราบว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๒ ซึ่งทำให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของโจทก์สิ้นสุดลงแล้วนับแต่วันที่โจทก์ลาออก ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยเรื่องสมาชิกภาพของโจทก์ต่อไป แต่จำเลยทั้งสามกลับให้รับคำร้องของนายสิทธิชัยกับพวกไว้ และวินิจฉัยให้โจทก์พ้นจากสมาชิกภาพสภาผู้แทนราษฎรเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์เสียหาย เป็นการใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพของโจทก์ ซึ่งโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ขอให้พิพากษาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ , ๔๒๑ และคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันโจทก์ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ โดยขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการลบล้างคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสาม
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นว่า หากศาลพิพากษาให้ตามคำขอท้ายฟ้อง จะมีผลกระทบต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา ๒๖๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ทั้งการกระทำของจำเลยทั้งสามตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มิใช่การกระทำโดยผิดกฎหมาย ไม่เป็นละเมิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ล้วนแต่มีความหมายแสดงให้เห็นได้โดยแจ้งชัดว่า เป็นกรณีการใช้ดุลพินิจในการทำคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามตามอำนาจหน้าที่ในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เพียงแต่คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามไม่เป็นไปตามทิศทางที่โจทก์ประสงค์เท่านั้น จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสามจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย หรือจำเลยทั้งสามได้ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ อันจะถือได้ว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ และ ๔๒๑ ส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันโจทก์และองค์กรต่าง ๆ นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามในฐานะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง และ ๒๖๘ การทำคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามเป็นขั้นตอนส่วนหนึ่งของการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๗ การฟ้องขอให้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะจะกระทำได้ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้กระทำได้เท่านั้น เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มิได้บัญญัติให้อำนาจบุคคลใดฟ้องเช่นนั้นได้ โจทก์จะอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพของบุคคล ที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๔ อันเป็นบททั่วไปมาเป็นมูลฐานฟ้องขอให้คำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสามเป็นโมฆะหาได้ไม่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share