คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9407/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234 ซึ่งกรณีนี้ ป.วิ.พ. มาตรา 236 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นนี้ไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งโดยไม่ชักช้า โดยศาลชั้นต้นไม่มีหน้าที่ จะตรวจสั่งไม่รับคำร้องเช่นว่านั้นเหมือนอย่างชั้นสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 232 การที่ศาลชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเสียเองย่อมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์เสีย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียทีเดียวโดยไม่ต้อง ให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์เกินกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์ จึงไม่อาจรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 ไว้ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินจำนวน ๑,๗๗๔,๕๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๖๘๐,๐๐๐ บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้องพร้อมกับยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ว่า คดีเรื่องเดียวกันนี้จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๔ ก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ปรากฏตามสำเนาคำฟ้องของจำเลยที่ ๑ สำเนาคำให้การและคำให้การเพิ่มเติมของโจทก์ กับคำคัดค้านคำให้การของจำเลยที่ ๑ ที่แนบท้ายคำร้อง ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทเดียวกันจึงควรให้ศาลปกครองพิจารณาพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทนี้ก่อน ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนคดีที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องโจทก์ต่อศาลปกครองกลางเป็นเรื่องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง จึงมิใช่คดีที่มีประเด็นข้อพิพาทเดียวกัน ให้ยกคำร้อง ค่าธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นสั่งเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ว่า คำสั่งที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ไม่ใช่คำสั่ง ชี้ขาดตัดสินคดี ทั้งคำสั่งดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๗ และ ๒๒๘ จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ (๑) จึงไม่รับ
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๕ อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๕ หากจำเลยที่ ๑ จะอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต้องยื่นเสียภายใน ๑๕ วัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๔ จำเลยที่ ๑ ยื่นอุทธรณ์วันนี้ล่วงเลยระยะเวลาดังกล่าว จึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งจำเลยที่ ๑ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์คำสั่งนี้
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๕ การที่จำเลยที่ ๑ ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยที่ ๑ จะต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือน หรือภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลได้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๔ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีเนื่องจากจำเลยที่ ๑ ได้ฟ้องโจทก์เรื่องเดียวกันนี้ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยที่ ๑ ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว เช่นนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจตรวจอุทธรณ์และมีคำสั่งให้ส่งหรือปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลอุทธรณ์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๒ และเมื่อศาลชั้นต้นไม่รับอุทธรณ์จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์โดยยื่นคำขอเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๔ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้อุทธรณ์ต้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดสิบห้าวัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๕ อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ย่อมต้องตกอยู่ภายในบังคับของมาตรา ๒๓๔ คือต้องยื่นภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ที่จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจึงฟังไม่ขึ้น แต่กรณีที่คู่ความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นส่งคำร้องเช่นว่านี้ไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งโดยไม่ชักช้า ซึ่งคดีนี้ได้แก่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ โดยศาลชั้นต้นไม่มีหน้าที่จะตรวจสั่งไม่รับคำร้องเช่นว่านั้นเหมือนอย่างชั้นสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๓๒ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ เสียเอง โดยไม่ได้ส่งไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิจารณาสั่งย่อมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ เพื่อพิจารณาสั่ง และเมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๔๕ การที่จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๕ ย่อมเกินกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จึงไม่อาจรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวไว้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share