คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3133/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์ให้เงินสดและสร้อยคอทองคำแก่ฝ่ายจำเลยโดยฝ่ายโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ 3 มีอายุยังไม่ครบกำหนดที่จะจดทะเบียนสมรสได้ แต่ก็ยอมให้โจทก์ที่ 3 และจำเลยที่ 3 ทำการสมรสกันตามประเพณีและอยู่กินด้วยกันฉัน สามีภริยาโดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรสนั้น เงินสดและสร้อยคอทองคำดังกล่าวจึงไม่ใช่สินสอดตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1437 โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกเงินสินสอดจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท และทองคำหนัก๑ บาท ราคา ๕,๐๐๐ บาท คืนจากจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ และให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรส ๑๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นบิดามารดาจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๒ ได้เรียกเงินสินสอดเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐บาท กับทองคำหนัก ๑ บาท จากโจทก์ แต่โจทก์ทั้งสามทราบอยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๓ อายุยังไม่ครบ ๑๗ ปี บริบูรณ์ จึงได้พูกกันแต่เพียงให้มีการแต่งงานกันตามประเพณี ไม่ได้พูดถึงเรื่องจดทะเบียนสมรสโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกสินสอดคืน ส่วนค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสสูงเกินไป
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาว่าโจทก์ที่ ๓ และจำเลยที่ ๓มีเจตนาจะทำพิธีสมรสกันตามประเพณีและอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่มีเจตนาที่จะจดทะเบียนสมรสกันหรือไม่ ฝ่ายโจทก์มีโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นบิดาโจทก์ที่ ๓ มาเบิกความว่ารู้จักจำเลยที่ ๑ บิดาจำเลยที่ ๓เพราะเคยเดินทางไปซื้อโคกระบือด้วยกัน บ้านอยู่ห่างหัน ๑๐ กิโลเมตรเศษ มีถนนติดต่อสะดวก ก่อนมีการตกลงแต่งงานระหว่างโจทก์ที่ ๓กับจำเลยที่ ๓ ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องอายุของคู่สมรส หลังจากรู้จากโจทก์ที่ ๓ ว่าจำเลยที่ ๓ ไม่ยอมให้โจทก์ที่ ๓ ร่วมประเวณีหลังจากแต่งงานแล้ว โจทก์ที่ ๑ จึงไปขอเงินสดและสร้อยคอทองคำซึ่งเป็นสินสอดทองหมั้นคืน เมื่อฝ่ายจำเลยที่ ๓ ไม่ยอมให้ จึงไปร้องเรียนที่อำเภอวัฒนานครให้ช่วยจัดการให้ แต่ทางอำเภอจัดการให้ไม่ได้เพราะจำเลยที่ ๓ มีอายุเพียง ๑๖ ปี ยังแต่งงานไม่ได้หากโจทก์ที่ ๑ ทราบจากฝ่ายจำเลยว่า จำเลยที่ ๓ มีอายุไม่ครบสมรสตามกฎหมาย โจทก์ที่ ๑ จะไม่ยอมเสียสินสอดให้ฝ่ายจำเลย ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ ๒ มารดาและจำเลยที่ ๓ มาเบิกความว่าเมื่อโจทก์ทั้งสามมาสู่ขอ จำเลยที่ ๓ ไม่เคยพูดว่าแต่งงานแล้วจะไปจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย และหลังแต่งงานแล้วก็ไม่เคยพูด ก่อนแต่งงานโจทก์ทั้งสามมาสอบถามอายุจำเลยที่ ๓ จึงบอกว่าอายุ ๑๕ ปี ฝ่ายโจทก์ได้ขอวันเดือนปีเกิดไปด้วย เมื่อได้ชั่งน้ำหนักคำเบิกความของทั้งสองฝ่ายแล้ว ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นำสืบว่าฝ่ายโจทก์เคยมาสอบถามอายุและขอวันเดือนปีเกิดของจำเลยที่ ๓ ไปนั้น มีเหตุผลน่าเชื่อเพราะการที่บุคคลทั้งสองฝ่ายจะจัดให้บุตรของตนทำการสมรสกันนั้นย่อมจะต้องมีการสอบถามอายุของบุคคลที่จะให้มีการสมรสกันก่อนทั้งนี้เพื่อจะจัดหาวันเวลาที่เป็นฤกษ์เพื่อแต่งงานกันตามธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยซึ่งมีมาช้านาน และเป็นที่รู้กันทั่วไป ที่ฝ่ายโจทก์นำสืบว่าไม่ได้สอบถามอายุจำเลยที่ ๓ และฝ่ายจำเลยไม่เคยบอกเรื่องอายุของจำเลยที่ ๓ นั้นฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงเชื่อว่าฝ่ายโจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๓ มีอายุยังไม่ครบกำหนดที่จะจดทะเบียนสมรสได้ การที่ฝ่ายโจทก์ยอมให้มีการสมรสกันตามประเพณีจึงเชื่อได้ว่ามีเจตนาจะให้อยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย
มีปัญหาต่อไปว่า ฝ่ายโจทก์มีสิทธิเรียกเงิน ๑๐,๐๐๐ บาทและสร้อยคอทองคำหนัก ๑ บาท คืนจากฝ่ายจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่าเมื่อทั้งสองฝ่ายมีเจตนาจะให้โจทก์ที่ ๓ และจำเลยที่ ๓ ทำพิธีสมรสกันตามประเพณีและอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ต้องจดทะเบียนสมรสแล้วการที่โจทก์ให้เงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท และสร้อยคอทองคำหนัก ๑ บาทแก่ฝ่ายจำเลย จึงมิใช่เงินสินสอดตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๗ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกคืนศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีนี้ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share